กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ
ประวัติและความเป็นมา
ลัวะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในตระกูลภาษา “ออสโตรเอเซียติก” (Austroasiatic) กลุ่ม Northern Mon-Khmer ซึ่งอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาเดียวกับชาวถิ่น ขมุ และมลาบรีหรือผีตองเหลือง กลุ่มชาติพันธุ์ลัวะเดิมอาศัยอยู่ในประเทศไทย พม่า จีน มานานมากแล้วโดยเฉพาะชาวลัวะในประเทศไทยถือว่าตัวเองเป็นชนเผ่าดั้งเดิมของไทย เคยสู่รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับคนไทยในการต่อต้านกับศัตรูที่มารุกรานประเทศไทยที่ตนอาศัยอยู่มานานแล้ว ไม่ว่าคนลัวะที่อยู่ในประเทศพม่า จีน ในสมัยก่อนมีการไปมาหาสู่กันเป็นอิสระ แต่เมื่อเกิดสงคราม หลายครั้งทำให้เกิดการแบ่งแยกอาณาเขต ทำให้เกิดการแยกจากกัน ไปอยู่ในที่ต่างๆ โดยกลุ่มละว้า (ลัวะ) ที่อยู่ทางตอนเหนือของประเทศพม่าจนถึงสิบสองปันนาเขตปกครองตนเองในประเทศจีนจะเรียกตัวเองว่า “ว้าโพ้น” ส่วนลัวะที่อยู่ ในประเทศไทยจะเรียกว่า “ว้าเกิด” โดยส่วนใหญ่ที่คนลัวะเข้ามาอยู่ในประเทศไทยจะเป็นว้าโพ้นมากว่าและเข้ามาในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา ในเอกสารที่มีการกล่าวถึงลัวะนั้นส่วนใหญ่จะอ้างถึงลัวะว่าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอนและน่าน นอกจากนี้ยังกระจายอยู่ในประเทศพม่า ลาว เวียดนาม กัมพูชา และจีนตอนใต้ ชาวลัวะเป็นชนชาติที่มีพื้นเพเดิมอยู่ในสุวรรณภูมิ จากตำนานลานนาสันนิษฐานว่าลัวะมีการตั้งถินฐานอยู่สองบริเวณหลักคือ แถบเชียงรายระหว่างแม่น้ำโขงกับแม่น้ำกกในเขตปู่จ้าวลาวจก กลุ่มนี้เรียกว่าข่าลัวะ หรือข่าวะ กับอีกกลุ่มหนึ่งคือลัวะที่สืบเชื้อสายมาจากขุนหลวงวิลังคะ เรียกว่าลัวะและแจ๊ะซึ่งจะอาศัยอยู่แถบลำปางกับเชียงใหม่ สำหรับในเชียงรายมีลัวะอยู่กระจายปะปนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น อำเภอพาน อำเภอเมือง อำเภอเวียงป่าเป้า อำเภอแม่จัน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จนบางครั้งมีการผสมผสานวัฒนธรรมจนกลมกลืนไปกลุ่มชาติพันธุ์อื่นโดยเฉพาะกับชาวไตหรือไทใหญ่ที่มีนิยายเล่าขานถึงความสัมพันธ์ของสองกลุ่มชาติพันธุ์นี้ว่าสมัยก่อนพญาลัวะกับพญาไตเป็นเพื่อนกันต่อมาพญาไตยกทัพไปรบกับพญาแมนตาตอก อันเป็นพญาที่ยิ่งใหญ่ของเหล่าปีศาจทั้งปวง พญาไตพ่ายแพ้ต่อพญาแมนตาตอก จึงหนีมาหลบซ่อนตัวอยู่กับพญาลัวะ พญาแมนตาตอกติดตามมาจนถึงบ้านพญาลัวะแต่พญาลัวะปฏิเสธว่าไม่พบเห็นพญาไตจึงทำให้พญาไตรอดพ้นจากพญาแมนตาตอก ทำให้พญาไตเป็นหนี้บุญคุณพญาลัวะ ทำให้ลัวะกับไตจึงเป็นชนชาติคู่เคียงกันนับตั้งแต่นั้นมา
ลัวะในประเทศไทย
จากข้อมูลในประเทศไทยที่มีการสำรวจไว้มานานกว่า 25 ปี พบว่ามีชาวลัวะอาศัยอยู่ใน 9 จังหวัด จำนวน 71 หมู่บ้าน มีประชากรรวม 17,637 คน โดยชาวลัวะในเชียงรายนั้นบุญช่วย ศรีสวัสดิ์ (2506) ได้เขียนถึงลัวะไว้ว่าลัวะมีขนบธรรมเนียมการแต่งกายแตกต่างจากชาวเหนือ สมัยก่อนผู้ชายนุ่งผ้าพื้นโจงกระเบนหรือโสร่ง ผู้หญิงสวมเสื้อสีดำผ่าอกแขนยาว ปักเป็นแผ่นใหญ่ที่หน้าอกตามแถวกระดุม และแถวรังดุมรอบคอ นุ่งผ้าซิ่นสีขาวสลับดำ ปัจจุบันการแต่งกายได้เปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม จะพบก็แต่ในเฉพาะคนเฒ่าคนแก่ผู้หญิงเท่านั้นที่ยังมีการสวมเสื้อและผ้าซิ่นเดิม รวมทั้งมีการเกล้ามวยผมไว้ ส่วนลักษณะทางสังคมและเครือญาติของลัวะมีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย มีลูกหลานอาศัยอยู่ร่วมกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ซึ่งจะเป็นผู้ที่คอยดูแลลูกหลานเมื่อพ่อแม่ของหลานไปทำงานรับจ้าง
ชาวลัวะนับถือผี ผีที่นับถือกันมากคือผีละมาง แบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ ผีละมางอยู่กับบ้านถือว่าเป็นผีเรือนคอยคุ้มครองรักษาป้องกันภัยให้แก่สมาชิกในครัวเรือน และผีละมางบิดามารดาซึ่งถึงแก่กรรมไปแล้ว การเซ่นไหว้ผีเมื่อมีคนในบ้านไม่สบาย ผีอื่นๆได้แก่ ผีหลวง ที่มีการสร้างหอผีไว้ต่างหาก สำหรับประเพณี พิธีกรรมของลัวะนั้นชาวลัวะที่นี่นับถือพุทธศาสนาและนับถือผี มีการนับถือผีเสื้อบ้านหรือใจบ้าน ผีเจ้าเมือง ผีบรรพบุรุษหรือผีตาโขน มีการส่งเคราะห์ มัดข้อมือผูกขวัญเวลาเจ็บป่วย โดยในเดือนธันวาคม จะมีประเพณีแห่ขบวนผีตาโขน มีการทำข้าวปุ๊ก ทำอาหารคาวหวานไปเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ เพื่อขอให้ช่วยคุ้มครองสมาชิกครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ชาวลัวะยังมีการประกอบพิธีกรรมขอขมาสิ่งของเครื่องใช้สอยในครัวเรือน ที่ตนเองได้ใช้ประโยชน์และอาจละเมิดล่วงเกินเพื่อเป็นการแสดงถึงสำนึกและบุญคุณของเครื่องใช้สอยต่างๆในชีวิตประจำวัน