ชุมชนชาติพันธุ์อาข่าบ้านดอยงาม-แม่จันใต้ ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ชุมชนชาติพันธุ์อาข่าบ้านดอยงาม-แม่จันใต้ตั้งอยู่หมู่ที่ 25 ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
อพยพมาโดยการนำของนายแลจือ จือปา เดิมที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่บ้านดอยงาม หมู่ 15 ตำบลท่าก๊อ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ต่อมาได้แยกตัวออกมาพื้นที่ใหม่จำนวน 8 หลังคาเรือน เมื่อปี พ.ศ.2524 เนื่องจากปัญหาที่ดินทำกินไม่พอ และการเปลี่ยนแปลงทางศาสนา โดยตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “แลจือ อาข่าภู” ต่อมาทางราชการได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็น “บ้านจันใต้” ปัจจุบันมีจำนวน 38 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 235 คน เป็นชาย 116 คน และหญิง 119 คน หมู่บ้านตั้งอยู่บนไหล่เขาสูงชัน เหนือระดับนํ้าทะเลที่ 1,300-1,500 เมตร ในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็น แม่จันใต้เป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนขุนเขา มีผู้ใหญ่บ้านชื่อ นายสินธม จือปา ซึ่งรอบๆหมู่บ้านล้อมไปด้วยป่าไม้ ในป่าอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณนานาชนิด สัตว์ป่านานาพันธุ์ รวมถึงเด็กๆในหมู่บ้านจะเข้ารับการศึกษาหนังสือที่โรงเรียนห้วยน้ำขุ่นวิทยา และมีการเรียนภาษาจีนควบคู่ไปด้วยที่โรงเรียนหมิงหลานจงแสว การใช้ชีวิตส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ และหมู่บ้านนี้จะใช้พลังงานจากแผงโซล่าเซลล์ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกชาอัสสัม กาแฟพันธุ์อาราบิก้า ผลไม้เมืองหนาว บ๊วย พลับ อะโวคาโด้ ลูกไหน พีช ลูกท้อ ค้าขาย แปรรูปผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตร เช่น ชา กาแฟ นอกจากนี้มีการท่องเที่ยวภายในชุมชนแบบโฮมสเตย์ ท่องเที่ยววิถีชีวิตและสัมผัสธรรมชาติ และรับจ้างทั่วไป
การปกครอง
โครงสร้างการปกครองตามจารีตประเพณีของชาวอาข่า มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ชัดเจน และมีอำนาจตัดสินใจในบทบาทของตนเอง โดยเน้นการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ฝ่าย ดังนี้
1) “โจ่ว” ฝ่ายกฎจารีตประเพณี ประกอบด้วย “โจ่วมา หมายถึง ผู้นำทางกฎจารีตประเพณี โดยที่จะมีผู้ช่วย หรือ “โจ่วหญ่า ซึ่งมีหรือไม่มีก็ได้ ตำแหน่ง “โจ่วมา” นี้ เป็นตำแหน่งที่สืบทอดผ่านทายาท ทำหน้าที่เป็นผู้นำประกอบพิธีกรรมต่างๆ ตามจารีตประเพณีของชุมชนทั้งหมด
2) “คะ” ฝ่ายปกครองและความมั่นคง ประกอบด้วย “บู่แซะ” หมายถึง ผู้ใหญ่บ้าน “หน่าบิ๊/หน่าเหง่อ” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและกรรมการ “บื้อลา/บู่ลา” หมายถึง หัวหน้าฝ่ายการจัดการอาหารในงานชุมชน ฝ่ายนี้จะประกอบด้วยกลุ่มคนที่มีอำนาจ ทำหน้าที่รักษาความสงบและความมั่นคงในชุมชน บังคับใช้กฏระเบียบชุมชน ตัดสินคดีความ ปรับสินไหม ออกแบบการพัฒนาชุมชน และประสานงานกับบุคคลภายนอก
3) “จิ” ฝ่ายช่างฝีมือ ประกอบด้วย “บาจี่ หมายถึง ช่างตีเหล็ก “จาข่า หมายถึง ช่างเงินช่างทอง ทำหน้าที่ผลิตหรือซ่อมแซมเครื่องมือ อุปกรณ์การเกษตรทุกชนิด ให้กับสมาชิกในชุมชน
4) “พิ” ฝ่ายจิตวิญญาณและสุขภาพ ประกอบด้วย “โบ๊วหม่อ หมายถึง หมอสวดพิธีกรรม “ญี้ผ่า” หมายถึง หมอทรง “ซามา หมายถึง หมอทำนาย ทำหน้าที่สื่อสารกับวิญญาณ หรือทำนายทายทัก และรักษาคนไข้ โดยใช้ยาสมุนไพร คาถาอาคม และการเข้าทรง
5) “คะมา” หมายถึง ที่ปรึกษา ประกอบด้วย “โจ่วคะ/หม่อคะ “จิคะพิคะ” เป็นกลุ่มผู้อาวุโส ผู้รู้ผู้มีประสบการณ์ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ และมีจิตอาสา ทำหน้าที่ให้คาปรึกษาและหนุนเสริมกิจกรรมของฝ่ายงานต่าง ๆ
ความเชื่อและวัฒนธรรม
อาข่าที่ดอยงาม-แม่จันใต้ยังคงนับถือผีบรรพบุรุษ จึงมีวิถีปฏิบัติที่สัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผี และระบบการผลิตเพื่อการดำรงชีพ ประเพณีพิธีกรรมต่างๆที่จัดให้มีขึ้นในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความหมายและความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของชาวอาข่า ในเรื่องความเชื่อของประตูบ้าน ซุ้มประตูไม้เล็กๆที่หัวหมู่บ้าน ที่เป็นเสมือนเขตแดนบ่งบอกที่อยู่ของชาวอาข่า เอาไว้เพื่อเป็นที่กั้นผีป่า หรือสิ่งไม่ดีไม่ให้เข้ามาในหมู่บ้าน และมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านเอาไว้เป็นที่ชำระล้างของเซ่นไหว้ในพิธีกรรมต่างๆให้สะอาดบริสุทธิ์ ในด้านเศรษฐกิจของชุมชนนั้นอยู่บนพื้นฐานของการทำการเกษตรจากเดิมหมู่บ้านเคยทำการปลูกฝิ่นในอดีตแล้วเปลี่ยนมาทำการปลูกกาแฟ และชาแทน ซึ่งการปลูกกาแฟนั้นจะปลูกภายใต้สภาพร่มเงากับต้นไม้ป่า เป็นการปลูกที่อาศัยธรรมชาติการมีส่วนร่วมระหว่างกาแฟและป่าไม้ข้อดีคือไม่ต้องพึ่งพาน้ำจากชลประทาน เพราะในดินมีความชื้นรวมถึงเป็นการป้องกันการพังทลายหน้าดิน และเป็นการปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี ซึ่งชาวบ้านได้นำตัวกาแฟไปแข่งขันและติดอันดับต้นๆของประเทศ กาแฟของแม่จันใต้ มีกาแฟเชอรี่แล้วนำมาสีเปลือกออกจะได้เป็นกาแฟกะลา (เป็นชื่อเรียกกาแฟที่ผ่านการสีแล้ว) แล้วนำมาแช่กาแฟกะลา เพื่อคัดสรร เมล็ดที่มีคุณภาพ แล้วนำมาตาก จากนั้นนำมาตำเบาๆ เพื่อเอาเปลือกบางๆที่เคลือบเมล็ดออก นำมาร่อนเปลือกออก ทำการคั่วกาแฟ ซึ่งรสชาติ จะออกมา หลาน เปรี้ยว ขม อ่อน ขึ้นอยู่ที่ระยะเวลาในการคั่ว และความต้องการตากให้ความร้อนระเหย จากนั้นนำเมล็ดมาบดให้ละเอียด สามารถนำมาชงเป็นกาแฟได้ คนในชุมชนได้จัดทำกาแฟออกมาขายและได้จัดทำแบรนด์ของตนเองเพื่อนำมาขายส่งให้คนในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น โดยจะทางผ่านทางสื่อออนไลน์ เช่น เฟสบุ๊ค ไลน์ เวปไซค์ เป็นต้น ส่วนแบรนด์ที่คนในชุมชนทำมาหลากหลายแบรด์ เช่น แบรนด์ AKAZA เป็นภาษาอาข่า แปลว่า ชาวอาข่า แบรนด์ JOSADO COFFEE เป็นต้น นอกจากกาแฟที่มีชื่อเสียงแล้วยังมีชาอัสสัมของแม่จันใต้ เป็นชาที่เก็บแล้วนำมาคั่วในกระทะระหว่างที่คั่วจะหอมกลิ่นชาอบอวน คั่วจนใบสีเขียวเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพื่อให้หลั่งสารออกมาจากนั้นนำไปตากแล้วสามารถนำมาชงชาดื่มได้ และยังมีชาดอกกาแฟของแม่จันใต้ เก็บดอกกาแฟแล้วนำมานำมาคั่วในกระทะระหว่างที่คั่วจะหอมกลิ่นกาแฟขึ้นมาคั่วจนดอกกาแฟเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเพื่อให้หลั่งสารออกมาจากนั้นนำไปตากแล้วสามารถนำมาชงชาดื่ม ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของรายได้ในครัวเรือนของชาวอาข่าแม่จันใต้ นอกจากนี้ยังมีพืชผลทางการเกษตรอื่น เช่น ผลไม้เมืองหนาวพวกบ๊วย พลับ อะโวคาโด้ ลูกไหน พีช ลูกท้อ เป็นต้น
อาข่าแม่จันใต้มีวัฒนธรรมที่ยังคงยึดถือปฏิบัติตามบรรพบุรุษ โดยเฉพาะดนตรีของกลุ่มชาติติพันธ์อ่าข่า โดย สมัยก่อนคนอาข่ามีความเชื่อกันว่าพระเจ้าเป็นผู้สร้างคนขึ้นมา แต่จะสร้างขึ้นมาเพียงเผ่าละ 2-3 คนเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลานั้นยังไม่มีประเพณีพิธีกรรม หรือกฎเกณฑ์ใดๆ มากนัก เพราะมีคนจำนวนน้อย ต่อมาได้มีเลขาของพระเจ้าได้ชี้แนะแนวทาง และสอนการทำเครื่องดนตรีให้กับชาวอาข่า และเมื่อคนอยู่ด้วยกันก็ได้เกิดลูกเกิดหลานมากขึ้น ทำให้เกิดประเพณีพิธีกรรมต่างๆ จึงได้คิดสร้างเครื่องดนตรีแต่ละชนิด เมื่อเวลาที่ลูกหลานอยู่ห่างไกลกัน ก็จะใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อเพื่อแสดงความคิดถึงต่อกัน จนทำให้เครื่องดนตรีเป็นที่นิยม และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ เครื่องดนตรีของอาข่ามีดังนี้