ชาติพันธุ์ไตลื้อ
ประวัติและความเป็นมา
ไตลื้อ หรือ ไทลื้อเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในตระกลูกลุ่มที่ใช้ภาษาไท ซึ่งชาวไตลื้อมีถิ่นฐานเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งประกอบด้วยหัวเมืองหลัก 12 เมือง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำโขง 6 เมืองมีเมืองลา หรือซือเหมาเป็นศูนย์กลาง และอยู่ทางตะวันตก 6 เมือง มีเมืองเชียงรุ้งเป็นศูนย์กลางการปกครอง คำว่าสิบสองปันนา เป็นการเรียกตามการแบ่งเขตพื้นที่นาของชาวไตลื้อที่ควบคุมด้วยระบบเหมืองฝายหลายๆเมืองรวมกัน ซึ่งรวมทั้งหมดมี 12 ปันนา
การอพยพย้ายถิ่นฐาน
การอพยพเคลื่อนย้ายของไทลื้อมาสู่ล้านนานั้นเนื่องมาจากนโยบาย “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ของเจ้าผู้ครองล้านนาในอดีต โดยเฉพาะในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไทยต้องทำศึกสงครามกับพม่าเพื่อขับไล่พม่าออกไปจากล้านนาด้วยการสนับสนุนของเจ้าฝ่ายเหนือ จนถึงปี พ.ศ.2347 ก็สามารถยึดเมืองเชียงแสนซึ่งเป็นที่มั่นแห่งสุดท้ายของพม่าในล้านนาได้สำเร็จ แต่พม่ายังมีอิทธิพลอยู่ในสิบสองปันนาและหัวเมืองลื้อเขิน ดังนั้นเจ้านายฝ่ายเหนือ นำโดยเจ้ากาวิละผู้ครองนครเชียงใหม่ จึงยกทัพขึ้นไปตีสิบสองปันนาแล้วได้อพยพผู้คนจากสิบสองปันนามาสู่ล้านนาเพื่อตัดกำลังข้าศึก และเพื่อป้องกันไม่ให้กองกำลังของพม่าที่ถูกขับไล่กลับมาใช้หัวเมืองต่างๆในสิบสองปันนาเป็นที่ซ่องสุมกำลังแล้วกลับมาโจมตีหัวเมืองฝ่ายเหนืออีก ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีชุมชนไตลื้อกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆทางภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย นอกจากนี้มีชาวไตลื้อบางกลุ่มที่อพยพเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อลี้ภัยการเมือง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ และบางส่วนได้อพยพโยกย้ายเพื่อแสวงหาพื้นที่ทำกินที่เหมาะสม
เกร็ดความรู้
จากตำนานที่ปรากฏในสมัยพระยามังราย ต้นราชวงศ์มังรายที่มีความสัมพันธ์ระหว่างสิบสองปันนากับล้านนาทั้งในด้านความสัมพันธ์ระบบเครือญาติ บ้านพี่เมืองน้อง ซึ่งก่อให้เกิดความสัมพันธ์ติดต่อกันในฐานะที่ทั้งสองแคว้นมีภูมิประเทศใกล้กัน มีการติดต่อทางด้านการค้าและเศรษฐกิจ มีขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกัน และมีการจัดระบบการปกครอง และการชลประทานคล้ายคลึงกัน