กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่

ประวัติและความเป็นมา

 ไตใหญ่หรือไตใหญ่เป็นชาวไตเผ่าหนึ่งในกลุ่มเชื้อชาติไทตระกูลภาษาไต-กะได (Tai – Kadai Language Family) และอยู่ในกลุ่มไต (Tai-Tai) สาขาตะวันออกเฉียงใต้ (สุวิไล เปรมศรีรัตน์และคณะ, 2547)  เป็นกลุ่มชาติไตที่อาศัยอยู่มากในรัฐฉาน ประเทศพม่า และมีการตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในลาว ไทย อินเดียและจีนตอนใต้ คนพม่าเรียกไทใหญ่ว่า “ฉาน” (Shan) คนไทบางกลุ่มในล้านนาเรียกว่า “เงี้ยว” แต่ไทใหญ่ถือว่าเป็นการเหยียดหยามนิยมให้เรียกว่าไทใหญ่มากกว่าสำหรับการตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยของไทใหญ่นั้นจะกระจายอยู่ 5 จังหวัด 13 อำเภอ 57 หมู่บ้าน จำนวน 4,547 หลังคาเรือน มีประชากรรวม 200,680 คน (กองสงเคราะห์ชาวเขา, 2538) ส่วนมากจะอาศัยอยู่แถบแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย และปัจจุบันพบว่ามีการอพยพของชาวไทใหญ่จากพม่าเข้ามาเป็นแรงงานข้ามชาติมากมายในตัวเมืองเชียงใหม่ เชียงราย เนื่องจากภาวะบีบคั้นชีวิตความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจ การทำมาหากินและการกดขี่ของทหารพม่าจากการสู้รบ

สังคมและวัฒนธรรม

ลักษณะทางสังคม ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นแบบครอบครัวขยายเนื่องจากต้องอาศัยแรงงานในระบบการผลิต ซึ่งส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วยการทำนา ทำสวน ทำไร่ ปลูกพืชผัก เช่น ฝ้าย ข้าวโพด ถั่ว มะเขือ พริก และการเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น เมื่อมีการแต่งงานลูกชายอาจจะลงตั้งบ้านเรือนใหม่หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ก็ได้ นอกจากนี้ชาวไทใหญ่ยังมีฝีมือด้านหัตถกรรม เช่น การแกะสลัก การทำเครื่องเงิน เครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า เป็นต้น ทำให้บทบาทหน้าที่ของชายหญิงมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะงาน โดยเฉพาะงานดูแลภายในบ้านจะเป็นหน้าที่ของผู้หญิง เช่น ทอผ้า ตักน้ำ ทำอาหาร เป็นต้น ผู้ชายทำหน้าที่สร้างบ้านเรือน การทำนาทำไร่แต่ทั้งนี้ไม่ได้มีการแบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจนแต่หากมีการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันในระบบการผลิต (Lebar and others, 1964) ด้านศาสนาและความเชื่อ ชาวไทใหญ่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท ขณะเดียวกันไทใหญ่ก็มีความเชื่อเรื่องผีและพราหมณ์พร้อมกันไปด้วย จึงมีประเพณีในรอบปีและการประกอบพิธีกรรมหลากหลายตามปฏิทินในรอบปี โดยความเชื่อนั้นมีการนับวันเพื่อเป็นศิริมงคลในการประกอบกิจวัตรประจำวัน ส่วนประเพณีและพิธีกรรมที่สำคัญของไทใหญ่นั้นมีดังนี้

ปอยส่างลอง ประมาณเดือนมีนาคมหรือเดือนสี่ของไทใหญ่ เป็นประเพณีการบวชลูกแก้วหรือบวชนาคเด็กชายอายุประมาณ 10-12 ปี จะบวชเป็นสามเณร ด้วยความเชื่อของชาวไทใหญ่ที่จะทำให้ครอบครัวอยู่ดีมีสุขปลอดภัยจากอันตรายต่างๆและได้รับอานิสงค์จากผลบุญพ่อแม่ตายไปได้ขึ้นสวรรค์เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านานและเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ของไทใหญ่ ปอยส่างลองจึงมีการจัดกิจกรรมการแสดง เช่น การำนกกิงกะลา การรำโต เป็นต้น เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองการทำบุญ

ปีใหม่ไตหรือปอยซอนน้ำ ช่วงเดือนเมษายนหรือเดือนห้าของไทใหญ่ เป็นประเพณีเฉลิมฉลองปีใหม่ไตหรือวันสงกรานต์ มีการห่อขนม ทำข้าวแอ๊บ ทำข้าวซอย ขนทรายเข้าวัดเพื่อทำบุญตานกองทรายหลวง นำตุงหรือธงกระดาษไปปักเพื่อเป็นการส่งเคราะห์ตามจักราศี การทำบุญอุทิศส่วนกุศลเพื่อเป็นการกรวดน้ำให้กับญาติที่เสียชีวิตๆ และนำเอาไม้อ้อ ดอกก่อ  ไม้ก่อไปวัดทำบุญไหว้พระ สรงน้ำพระ การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อขอขมาและขอพรเป็นการเริ่มต้นการดำเนินชีวิตในปีใหม่

พิธีกรรมเลี้ยงใจบ้าน ประมาณเดือนพฤษภาคม เป็นการนำเอาดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวานไปเซ่นไหว้ใจบ้านหรือผีเสื้อบ้านเพื่อเป็นปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากหมู่บ้านและขอให้ช่วยคุ้มครองสมาชิกในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข แต่ละครัวเรือนจะมาร่วมประกอบพิธีกรรม ซึ่งหอใจบ้านจะอยู่บริเวณกลางหมู่บ้านชาวบ้านจะมาร่วมกันทำพิธีกรรมมีการทำเฉลวมัดติดกับไม้ค้ำวางไว้ข้างเทวรูปและแขวนไว้เป็นสัญลักษณ์ ภายในหอใจบ้านจะมีเทวรูปที่เปรียบเสมือนตัวแทนของใจบ้านอันเป็นที่นับถือของชาวไตใหญ่

พิธีกรรมเลี้ยงเมือง หรือเจ้าเมืองจะประมาณเดือนมิถุนายน ศาลของเจ้าเมืองส่วนใหญ่จะอยู่บนเนินเขาเหนือหมู่บ้านขึ้นไปเป็นที่ร่วมกันของทุกครัวเรือน แต่ละครัวเรือนจะนำเอาดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวานไปเซ่นไหว้เจ้าเมือง และบรรพบุรุษ เพื่อให้ช่วยคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข 

ประเพณีเข้าหว่าหรือเข้าพรรษา ประมาณเดือนกรกฎาคมและออกหว่าหรืออกพรรษาถัดออกไปอีกสามเดือน มีการห่อขนมข้าวต้ม ทำข้าวซอย ข้าวแอ๊บ ไหว้พระทำบุญตักบาตร สะเดาะเคราะห์เพื่อเป็นมงคลแก่ชีวิตและครอบครัว และในกลางหว่า เป็นการไปไหว้พระทำบุญ ฟังธรรมเทศนา มีการจับฉลากใบธรรมของแต่ละครัวเรือนเป็นงานตั้งธรรม หากใครจับได้บั้งไฟก็ต้องทำบั้งไฟไปถวายเพราะเชื่อว่าในปีนั้นต่อไปหากทำอะไรก็จะทำให้ชีวิตและครอบครัวมีความราบรื่นและประสบแต่โชคดี ช่วงการออกหว่าหรือออกพรรษา มีการห่อขนมข้าวต้ม ทำข้าวซอย ไหว้พระทำบุญ จุดประทีปโคมไฟ การรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่เพื่อขอขมา มีการแห่ต้นเกี้ยะโดยแต่ละครัวเรือนจะรวมกันเป็นหมวดมีการนำเอาไม้ไผ่มาทำเป็นแผ่นและบรรจุไม้เกี้ยะแล้วมวนเป็นเสาตกแต่งด้วยกระดาษสีแกะลวดลายจากนั้นนำไปแห่เข้าวัดเพื่อประกวดและถวายเพื่อบูชาพระ มีการแสดงการละเล่นในช่วงกลางคืนรวมทั้งมีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อเป็นพุทธบูชา การปล่อยโคมไฟเพื่อปล่อยเคราะห์และให้มีโชคลาภ