ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านรวมมิตร
ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตรตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
ความเป็นของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านรวมมิตรนั้นจากคำบอกเล่าของ “พือมูล บุญเป็ง” ได้เล่าความเป็นมาของกะเหรี่ยงในประเทศไทยว่า พื้นที่หลักที่กะเหรี่ยงกลุ่มปกาเกอะญอ อาศัยอยู่ครั้งเเรกคืออำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ โดยยึดอาชีพเกษตรกรรม ในการหาเลี้ยงชีพ ต่อมาในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐบาลไทยได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติประมูล โครงการทำป่าสัมปทานในพื้นที่ตำบลแม่ยาว จังหวัดเชียงราย โดยบริษัทที่ชนะการประมูลจะได้กรรมสิทธิ์การทำธุรกิจขนส่งไม้จากตำบลแม่ยาวออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทจากประเทศฝรั่งเศส หรือที่ชาวกระเหรี่ยงเรียกกันว่า บริษัท “ห้าง โบ๋ เบ๋” ได้กรรมสิทธิ์ในการทำธุรกิจสัมปทานในครั้งนั้นไป หลังจากที่ “ห้างโบ๋ เบ๋” เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทย ปัญหาแรกที่พบคือการสื่อสารและการทำสัมปทานไม้ในสมัยนั้นจำเป็นต้องมีช้างควานช้างในการลากไม้ซุงทำให้ชาวกะเหรี่ยวเข้ามาเป็นแรงงานบังคับช้างในการชักลากไม้ของบริษัทห้างโบ๋เบ๋ของชาวฝรั่งเศส หลังจากสิ้นสุดการสัมปทานทำให้ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งได้ตั้งหลักปักฐานอยู่บ้านน้ำลัด อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย โดยเห็นว่าเป็นที่เหมาะแก่การทำการเกษตร และได้ใช้ชีวิตมาจนกระทั่งสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ช่วงทำสงครามกะเหรี่ยงได้ร่วมมือกับทหารไทย โดยใช้ช้างเป็นพาหนะในการลำเลียงสิ่งของ เสบียง อาหาร ให้กับทหารไทยในการรบครั้งนั้น หลังสงครามมีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ร่วมมากขึ้น ทำให้ที่คับแคบแออัดขัดแย้งที่ทำมาหากิน ชาวกะเหรี่ยงส่วนหนึ่งจึงตัดสินใจออกเดินทางอีกครั้ง เนื่องด้วยชนเผ่ากะเหรี่ยงมีนิสัยรักความสงบ ชอบใช้ชีวิตอย่างสันโดษ เมื่อมีประชากรหนาแน่น จึงมองหาที่ทำกินใหม่ โดยเล็งเห็นว่าตำบลแม่ยาว ที่เคยเป็นป่าสัมปทานเก่า เป็นที่อุดมสมบูรณ์ เหมาะแก่การเพาะปลูก ในขณะนั้นผู้เฒ่า (เซโค่) ตุดง ธุระวร ได้เป็นผู้นำพาลูกหลาน และลูกบ้านส่วนหนึ่งย้ายขึ้นมาตั้งหลักปักฐานอยู่ที่ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย คำว่าแม่ยาวตั้งขึ้นมาจากสัมปทานแม่ยาวนั้นเอง แต่ยังมีบางส่วนที่ย้ายกระจัดกระจายออกไปตามส่วนต่างๆ ตามแทบแถวตำบลทุ่งพร้าว อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย และบางส่วนที่ย้ายไปอาศัยอยู่แถบแนวชายแดนของจังหวัดกาญจนบุรี
ประชากร
หมู่บ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรได้ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2523 ปัจจุบันในหมู่บ้านมีจำนวนหลังคาเรือนทั้งหมด 225 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมดจำนวน 1,200 คน ชาย 500 คน หญิง 700 คน มีโบสถ์ริสต์จักร 1 แห่ง ชื่อโบสถ์คริสตจักรรวมมิตร ภาคที่ 10 มีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายกำพล เฉลิมเหลี่ยมทอง ทำหน้าที่ปกครองหมู่บ้าน สำหรับลักษณะทางสังคมนั้นกะเหรี่ยงมีระบบครอบครัวเป็นแบบผัวเดียวเมียเดียวและไม่มีการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานเป็นอันขาดการหย่าร้างมีน้อย ขณะที่การแต่งงานใหม่ก็ไม่ค่อยปรากฏ ส่วนการเลือกคู่ครองนั้นฝ่ายหญิงจะเป็นผู้เลือกชายก่อน และบางครั้งฝ่ายหญิงก็ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการแต่งงาน สังคมกะเหรี่ยงเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อลูกแต่งงานก็จะแยกครอบครัวไปปลูกบ้านใหม่ ถ้าแต่งงานแล้วชายจะต้องมาอยู่กับบ้านพ่อแม่ภรรยาเป็นเวลา 1 ฤดูเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นจึงปลูกบ้านใกล้กับพ่อแม่ฝ่ายภรรยาถ้ามีลูกสาวคนเล็กจะต้องอยู่ดูแลพ่อกับแม่
ด้านการประกอบอาชีพของชุมชนบ้านกะเหรี่ยงรวมมิตรส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ข้าวโพด ทำสวน สับปะรด เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย ผลิตภัณฑ์ชนเผ่ากะเหรี่ยง และอาข่า ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนและเชียงรายไนท์บราซ่า มีบางส่วนที่ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปช่วงวัยกลางคนและวัยรุ่นอายุประมาณ 20-40 ปี ไปทำงานกรุงเทพ จำนวน 20 คน และทำงานโรงงานและเก็บผัก ผลไม้ต่างประเทศ ได้แก่ประเทศอิสราเอล จำนวน 20 คน ประเทศเกาหลี 20 คน ประเทศออสเตรเลีย 5 คน นอกจากนี้ในชุมชนมีการจัดการการท่องเที่ยวชุมชน ดูวิถีชีวิตชนเผ่า ท่องเที่ยวธรรมชาติและขี่ช้าง โดยมีปางช้างที่แต่ละครัวเรือนนำมารวมกันจัดตั้งเป็นกลุ่มขึ้นมาบริหารจัดการเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนทำให้เป็นแหล่งเที่ยวที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ยังการรวมกลุ่มเพื่อประกอบกิจการต่างๆ อาทิ กลุ่มออมทรัพย์ สชพ.บ้านรวมมิตร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2548 ผู้ก่อตั้งนายเกนุ เฉลิมเหลี่ยมทอง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมและการหมุนเวียนการลงทุนในชุมชน มีสมาชิกจำนวน 500 คน กลุ่มออมทรัพย์สตรีก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2555 ผู้ก่อตั้งคือนางวิชาดา กาทู มีสมาชิกจำนวน 100 คน และกลุ่มศูนย์การเรียนรู้ (เลี้ยงหมู) ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2542 ผู้ก่อตั้งนายกำพล เฉลิมเหลี่ยมทอง มีสมาชิกจำนวน 30 คน เป็นต้น
ศาสนาและความเชื่อ
ด้านความเชื่อนั้นเดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผีมีการบวงสรวงและเซ่นไหว้อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามในภายหลังชาวกะเหรี่ยงในชุมชนหันมานับถือศาสนาพุทธและศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญ ชาวกะเหรี่ยงเชื่อว่าคนเรามีขวัญอยู่ทั้งหมด 37 ขวัญ เมื่อคนตายไปขวัญจะละทิ้งหรือหายไป นอกจากนี้ยังเชื่อว่าขวัญจะหนีไปท่องเที่ยว และอาจถูกผีทำร้ายหรือกักขังไว้ ทำให้เจ้าของขวัญล้มป่วย การรักษาหรือช่วยเหลือผู้เจ็บป่วยก็คือ ต้องล่อและเรียกขวัญให้กลับคืนมา