ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านขุนห้วยแม่เปาใต้

 ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านขุนห้วยแม่เปา ตั้งอยู่หมู่ที่ 17 ตำบลแม่เปา อำเภอพญาเม็งราย จังหวัดเชียงราย 

ประวัติ

ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 โดยอพยพมาจากประเทศลาว และประเทศจีน แล้วไปตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านขุนห้วยไคร้ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงรายก่อน แล้วย้ายไปอยู่ที่หมู่บ้านนาหนู อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ.2515 ได้ย้ายขึ้นมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านขุนห้วยแม่เปาใต้จนถึงปัจจุบัน

ประชากร

ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านขุนห้วยแม่เปา มีหลังคาเรือนทั้งหมด 207 หลังคาเรือน  ประชากรจำนวน 1,000 คน ชาย  400 คน หญิง 600 คน ม้งที่ขุนห้วยแม่เปาใต้ส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษ มีบางส่วนนับถือศาสนาคริสต์ และประมาณ 20 ครัวเรือนที่นับถืออิสลามโดยย้ายมาจากที่อื่นเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมในหมู่บ้าน ทำให้ชุมชนมีโบสถ์คริสต์ 1 แห่ง และมัสยิด 1 แห่ง การประกอบอาชีพของคนในชุมชนส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกข้าว ข้าวโพด ทำสวน มะม่วง ลำไย และรับจ้างทั่วไป เช่น รับจ้างในหมู่บ้านเก็บมะม่วงตามฤดูกาล บางส่วนไปทำงานโรงงานในต่างประเทศ อาทิประเทศอิสราเอล เกาหลี ซึ่งเป็นวัยทำงานประมาณ 100 คน รวมถึงไปทำงานโรงงานที่กรุงเทพซึ่งเป็นวัยรุ่น จำนวน 20 คน นอกจากนี้มีทำการค้าขาย ผลิตภัณฑ์ผ้าเขียนเทียนชาวม้ง พวกเสื้อผ้า กระเป๋า ซึ่งขายผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนและสิงห์ปาร์คเชียงรายทุกๆวันเสาร์ และยังการดำเนินกิจกรรมกลุ่มทางด้านเศรษฐกิจที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นในปี พ.ศ.2559 ได้แก่ กลุ่มตีมีดม้ง ผู้ก่อตั้งคือนายเล่าหน่อ แซ่หาง มีสมาชิกจำนวน 20 คน กลุ่มผ้าเขียนเทียน และแปรรูปผ้าเขียนเทียนผู้ก่อตั้งคือนางเรวดี แซ่หาง มีสมาชิกจำนวน 30 คน และกลุ่มจักสานผู้ก่อตั้ง นายเหล่ายิ่ง แซ่หาง มีสมาชิกจำนวน 30 คน

สังคมและวัฒนธรรม

ด้านสังคมวัฒนธรรมนั้นชุมชนม้งที่ขุนห้วยแม่เปาจะไม่แตกต่างจากชุมชนม้งที่อื่นมากนัก ส่วนใหญ่นับถือผีบรรพบุรุษที่คล้ายคลึงกับชุมชนม้งบ้านโป่งนกที่กล่าวมา แต่ที่นี่จะมีความแตกต่างในส่วนของกลุ่มที่นับถือศาสนาอื่นได้แก่ คริสต์ และอิสลามที่มีความเชื่อในการปฏิบัติศาสนากิจแตกต่างออกไปตามความเชื่อทางศาสนาที่ตนเองนับถือ อย่างไรก็ตามการอยู่ร่วมกันในชุมชนไม่ได้มีความขัดแย้งกัน โดยคนส่วนใหญ่ที่นับถือผีบรรพบุรุษก็จะมีการประกอบประเพณีพิธีกรรมตามวัฏจักรในแต่ละช่วงเวลาของปีตามปกติ การจัดการและแก้ไขปัญหาในชุมชนม้ง เมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างสมาชิกในชุมชน แต่ละฝ่ายจะหาตัวแทนจากตระกูลแซ่ของตนซึ่งเป็นผู้ที่สมาชิกในตระกูลแซ่เดียวกันให้ความเคารพนับถือยำเกรงเพื่อไปเจรจาและไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ณ ที่บ้านของบุคคลที่ทั้งสองฝ่ายให้การยอมรับ หรือที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท ระบบการพิจารณาและตัดสินของม้งเป็นระบบจารีตประเพณี ไม่มีตัวอักษร ดังนั้นจึงต้องพิจารณาจากกรณีที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเป็นบรรทัดฐาน และมีการใช้คนนอกหรือแซ่อื่นมาช่วยตรวจสอบข้อมูลและบรรดาพยานหลักฐานที่แต่ละฝ่ายอ้างขึ้นมา บางกรณีคนนอกเหล่านี้ก็มีบทบาทสูงในการชี้ขาดว่าใครผิดใครถูก กระบวนการพิจารณาเมื่อเริ่มขึ้นแล้วต้องดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยไปจนกว่าจะได้ข้อยุติ

พิกัด