ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านดอยฮาง-ยางคำนุ
ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านดอยฮาง-ยางคำนุตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลดอยฮาง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
บ้านยางคำนุได้มีการตั้งถิ่นฐานเมื่อปี พ.ศ.2470 และได้รับการประกาศแต่งตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมายเมื่อปี พ.ศ.2528 เดิมหมู่บ้านยางคำนุมีชื่อว่า “หมู่บ้านแม่ต่างคี” โดยเรียกตามลักษณะการไหลของลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นหมู่บ้านยางคำนุตามชื่อของผู้นำหมู่บ้านคนแรกคือพ่อเฒ่าคำนุ แซ่วอ เป็นชาวกะเหรี่ยงที่อพยพเข้ามาจากห้วยหินลาดใน อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย เดิมเป็นบ้านบริวารของบ้านดอยฮาง หมู่ที่ 1 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย และได้แยกหมู่บ้านอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ.2528 มาเป็นหมู่ที่ 16 ตำบลแม่ยาว มีผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อนายสีพู รุ่งแสงอำไพ ซึ่งอยู่ในตำแหน่งตั้งแต่ปี พ.ศ.2528-2539 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2537 ได้แยกเป็นตำบลดอยฮาง ซึ่งบ้านยางคำนุเปลี่ยนมาเป็นหมู่ที่ 5 หลังจากผู้ใหญ่บ้านคนเก่าหมดวาระลงได้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านขึ้นใหม่ โดยมีนายอินทร ปู่เงิน อยู่ในวาระ 4 ปี หลังจากนั้นได้เลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ชื่อนายจตุพร บุญเจริญ อยู่ในตำแหน่ง 4 ปี จนถึงปัจจุบันมีผู้ใหญ่บ้านชื่อนายรัตนชัย เกรียงชัยไพรพนา มีจำนวนประชากรรวม 275 คน ชาย 138 คน หญิง 135 คน มีทั้งหมด 65 ครัวเรือน
การพัฒนาหมู่บ้านนั้นเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2516 เมื่อหน่วยงานศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดเชียงรายได้เข้ามาสำรวจหมู่บ้านและได้สร้างสำนักงานหน่วยพัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาขึ้นในหมู่บ้านพร้อมกับได้ส่งเสริมกิจกรรมด้านต่างๆ อาทิเช่น ด้านการศึกษาโดยสร้างโรงเรียนชั่วคราวสอนนักเรียน 1 แห่ง ด้านอาชีพได้ส่งชาวบ้านเข้ารับการอบรมด้านการเกษตรเพื่อกลับมาพัฒนาในหมู่บ้านของตนเอง ด้านสาธารณูปโภคสร้างประปาภูเขา 1 แห่ง จากนั้นศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาได้ส่งหมู่บ้านเข้าประกวดหมู่บ้านขาวสะอาดได้รับรางวัลที่ 2 ได้เงินรางวัลจำนวน 10,000 บาท ต่อมาได้นำเงินนั้นมาจัดตั้งเป็นกองทุนหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน และในปี พ.ศ.2518 พระธรรมจาริกได้เข้ามาหมู่บ้านพร้อมๆกับศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาโดยสร้างอาศรมพระธรรมจาริก 1 แห่ง พัฒนาด้านคุณธรรมจริยธรรมและให้ความรู้ทางด้านพุทธศาสนาส่งเสริมให้ชาวบ้านไปบวชเรียนที่วัดศรีโสดาเพื่อพัฒนาตนเองและกลับมาพัฒนาหมู่บ้านปัจจุบันมีจำนวนหลายคน ปัจจุบันมีอาศรมพระธรรมจาริก 1 แห่ง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอยู่ในความดูแลขององค์การบริหารส่วนตำบลดอยฮาง 1 แห่ง สำนักงานประสานงานศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 12 จำนวน 1 แห่ง มีโรงเรียนประถมศึกษาคือโรงเรียนบ้านยางคำนุ 1 แห่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านยางคำนุ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางการเกษตร ทำไร่ปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด และสับปะรด เลี้ยงสัตว์ไว้เพื่อบริโภคในครัวเรือน อาชีพรองคือการรับจ้าง
ศาสนาและความเชื่อ
ศาสนา ความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมเดิมชาวกะเหรี่ยงนับถือผี มีการบวงสรวงและเซ่นไหว้อย่างเคร่งครัด ภายหลังหันมานับถือศาสนาพุทธ และศาสนาคริสต์มากขึ้น แต่ก็ยังคงความเชื่อเดิมอยู่ไม่น้อย เช่น ความเชื่อเรื่องขวัญหรือการทำกิจกรรมต่างๆ จะต้องมีการเซ่นเจ้าที่เจ้าทาง และบอกกล่าวบรรพชนให้อุดหนุนค้ำจูน ช่วยให้กิจการงานนั้นๆ เจริญก้าวหน้า ทำเกษตรกรรมได้ผลผลิตดี ให้อยู่เย็นเป็นสุข ปกป้องคุ้มครองดูแล และยังเป็นการขอขมาอีกด้วย ประเพณีที่สำคัญในรอบปีของชาวกะเหรี่ยงยางคำนุ อาทิ ประเพณีเรียกขวัญเด็ก (มกราคม-ธันวาคม) ประเพณีเรียกขวัญผู้สูงอายุ (มกราคม-ธันวาคม) ประเพณีเรียกขวัญสัตว์เลี้ยง (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม) ประเพณีผูกข้อมือ (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม) ประเพณีสงกรานต์ (เมษายน) ประเพณีแห่เทียนพรรษา (กรกฎาคม) ประเพณีเรียกขวัญข้าว (สิงหาคม) ประเพณีออกพรรษา (ตุลาคม) ประเพณีตานข้าวใหม่ (ตุลาคม) ส่วนพิธีกรรมที่สำคัญ อาทิ ประเพณี “ถางซีไกงย” หรือ พิธีขับไล่สิ่งชั่วร้ายโรคภัยไข้เจ็บออกจากหมู่บ้าน