ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่บ้านห้วยมะซาง
ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่บ้านห้วยมะซางตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่บ้านห้วยมะซาง อพยพมาจากประเทศพม่าแล้วไปตั้งรกรากที่ดอยตุงจากนั้นได้มาอยู่ที่ดอยผาหมี และได้ขึ้นมาตั้งรกรากที่บ้านห้วยมะซาง ลาหู่บ้านห้วยมะซางแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือลาหู่ปาเกียว และลาหู่ซี (ลาหู่เหลือง) จะแตกต่างกันตรงที่การแต่งกาย ภาษาพูดและวัฒนธรรม ห้วยมะซางมีจำนวน 300 หลังคาเรือน มีประชากรจำนวน 1,200 คน เป็นชาย 550 คน หญิง 650 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตรเพื่อบริโภค พืชที่นิยมปลูกได้แก่ ข้าว ข้าวโพด งา พริก เป็นต้น เดิมนั้นชาวลาหู่จะทำการเกษตรแบบไร่หมุนเวียน ไร่หนึ่งผืนจะใช้ประโยชน์ประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นจะทิ้งไว้ประมาณ 10-15 ปีแล้วหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง แต่ในปัจจุบันเนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องที่ดิน จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นการผลิตที่มุ่งเน้นการปลูกพืชเศรษฐกิจพวกข้าวโพด ปลูกข้าว สับปะรด ถั่วดำ ถั่วแดง ข้าวไร่ ขิง ลิ้นจี่ ลำไย กาแฟ อโวคาโด ชา โกโก้ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังมีการเลี้ยงสัตว์ไว้ใช้งานและใช้ประกอบในพิธีกรรมต่างๆ ได้แก่ ไก่ หมู ม้าและล่อ เป็นต้น
สังคมและวัฒนธรรม
ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมนั้นโครงสร้างสังคมชาวลาหู่จะประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง อาดอ (คะแซ) คือ ผู้นำหมู่บ้าน ส่วนที่สอง โตโบ คือ พระหรือนักบวชทำหน้าที่สั่งสอนคนให้เป็นคนดี และส่วนที่สาม จาหลี๋ คือ ช่างตีเหล็ก มีหน้าที่ผลิตเครื่องมือการเกษตร ชาวลาหู่เชื่อว่าหากหมู่บ้านใดไม่มี 3 ส่วนดังกล่าว ถือว่าเป็นหมู่บ้านที่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถเป็นหมู่บ้านที่ใหญ่และมั่นคงต่อไปได้ ชาวลาหู่ให้ความนับถือผู้อาวุโสทั้ง 3 ส่วนนี้มาก และทุกปีคนในหมู่บ้านทุกครัวเรือนจะไปทำงานให้ครอบครัวของผู้อาวุโสทั้ง 3 ส่วนนี้ เพื่อเป็นการตอบแทนที่ช่วยดูแลให้เกิดความสงบสุขในหมู่บ้าน ด้านการปกครองชาวลาหู่จะใช้รูปแบบของจารีตประเพณี เช่น เมื่อมีการร้องเรียนหรือข้อพิพาท ผู้นำหมู่บ้านจะเชิญหัวหน้าครอบครัวทุกหลังคาเรือนมาประชุมเพื่อชี้แจง ปรึกษา และตัดสินคดีข้อพิพาท ถ้าหากผลการตัดสินเกิดความขัดแย้งขึ้น จะเชิญผู้นำหมู่บ้านกับผู้อาวุโสจากหมู่บ้านอื่นที่มีความเป็นกลางมาว่าความ และตัดสินใจชี้ขาดเสมือนผู้นำในหมู่บ้าน ถ้าเป็นการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรงจะมีโทษเพียงปรับเป็นเงินตามอัตรากฎจารีต ของหมู่บ้านที่ได้มีการตกลงกันไว้ หากเป็นความผิดร้ายแรงผู้กระทำความผิดอาจได้รับโทษปรับตามกฎจารีตแล้วถูกขับไล่ออกจากหมู่บ้าน เป็นต้น
ความเชื่อและศาสนา
ยังคงมีครัวเรือนที่นับถือผีบรรพบุรุษ และส่วนใหญ่เปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ โดยในหมู่บ้านมีโบสถ์คริสต์ถึง 5 แห่ง โดยกลุ่มที่นับถือผีบรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหลักมีความเชื่อที่มีพิธีกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในการดำรงชีวิต การเกิด เจ็บ ตาย บุคคลที่มีอิทธิพลในหมู่บ้านมากที่สุด ได้แก่ พ่อครู หรือปู่จอง การตัดสินเรื่องสำคัญๆของหมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านและทุกคนจะต้องฟังความคิดเห็นของพ่อครูเป็นหลัก ซึ่งหัวหน้าหมู่บ้านกับพ่อครูอาจจะเป็นคนเดียวกัน ที่เป็นผู้นำทางพิธีกรรมเป็นผู้ทำนายทายทัก รักษาอาการเจ็บป่วยด้วยสมุนไพรหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นฐานความเชื่อของลาหู่นี้จะนับถือพระเจ้า หรืออื่อซา ชาวลาหู่มีความเชื่อเรื่องภูต ผี ขวัญ วิญญาณ ผสมผสานไปด้วยกัน อื่อซาถือเป็นผู้ยิ่งใหญ่ ผู้ให้กำเนิดโลกและความดีทั้งปวง การบูชาสวดอ้อนวอน อื่อซา ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะบันดาลให้ทุกคนสมบูรณ์พูนสุข ข้าวปลาอาหารอุดมสมบูรณ์ อย่างเช่นเทศกาลปีใหม่ หรือกินวอ (เขาะจาเว) ช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ของทุกปี ทุกหลังคาเรือน ทุกกลุ่มบ้าน หรือหมู่บ้านก็ต้องทำการบูชาและสวด ผลผลิตที่ได้ในรอบปีนั้นๆ ให้กับ อื่อซา เพื่อได้รับประทาน และได้รับรู้ รับทราบ บวกกับขอโชคลาภในปีต่อไป เช่น ในปีนี้ผลผลิตได้เท่านี้ทำถวายให้ท่านอื่อซา หนึ่งถ้วยพออื่อซารับประทานและได้รับรู้ปีหน้าจะขอผลผลิตให้ได้เก้าเท่าเก้าถ้วย เป็นต้น
นอกจากนี้ชาวลาหู่ยังเชื่อเกี่ยวกับวิญญาณ หรือขวัญ เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของร่างกาย หากขวัญออกจากร่าง หรือถูกผีร้ายกระทำ เจ้าของร่างกายจะเจ็บป่วย ชาวลาหู่เชื่อว่าช่วงที่คนไม่ค่อยมีแรง ไม่สบายบ่อยๆ นั้นมาจากขวัญ ชาวลาหู่ก็จะไปหาโตโบ ซึ่งที่เป็นผู้นำทางศาสนาทำพิธีจุดเทียนแล้วสวด กล่าวตามวิธีโตโบ โตโบทำเสร็จพิธี และรู้ว่าจะต้องทำอะไรซึ่งงผู้ป่วยก็ถามว่า จะทำอย่างไร และจะต้องแก้ในด้านไหน แล้วโตโบก็จะตอบ และบอกตามจริงที่ได้รับคำสั่ง จากเบื้องบนให้กับคนที่ไม่สบาย รับรู้ และให้กลับไปแก้ตามจริงที่โตโบบอก เช่น ช่วงนี้บุญมีไม่มากแล้วนะ และขวัญหาย ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วผู้ป่วยหรือผู้ไม่สบายก็ต้องรีบหาหมอผี ทำพิธีแก้สิ่งเหล่านี้ การทำพิธีมีดังนี้ พิธีเล็กๆ ทำพิธีมีเครื่องเซ่นไหว้พวกไก่ ถ้าพิธีใหญ่ก็เซ่นไหว้ด้วยหมู จากนั้นก็จะนำเอาหมู ไก่มาฆ่าเลี้ยงให้กับสมาชิกในหมู่บ้าน เพื่อที่จะขอบุญคนในหมู่บ้าน และคนในหมู่บ้านก็ผูกข้อมือ และอวยพรให้กับคนไม่สบายคนๆ นั้น สำหรับถ้าขวัญหายชาวลาหู่ก็จะมีวิธี เช่น ชาวลาหู่รู้ว่าขวัญหาย ก็จะหาไก่หนึ่งตัว เพื่อที่จะนำมาทำพิธีเรียกขวัญตามวิธีชาวลาหู่ ขวัญกลับมาหรือยังอย่างไรนั้นต้องฆ่าไก่ ตัวที่ทำพิธีแล้วก็มาทำ กินกันเองในกลุ่มหมอผี หรือผู้เฒ่าเพียงไม่กี่คนเท่านั้น พอกินเสร็จหมอผี หรือผู้เฒ่า ผู้แก่ก็จะดูที่กระดูกไก่ ก็จะรู้ว่าขวัญกลับมาหรือยังก็จะทำนายถึงการกลับมาของขวัญ
ด้านภูมิปัญญา
ด้านภูมิปัญญาที่เป็นสื่อพื้นบ้านอื่นๆนั้น ชาวลาหู่มีทั้งองค์ความรู้เกี่ยวกับการประดิษฐ์ หัตถกรรมจักสาน การเย็บปักถักร้อยเสื้อผ้า การแสดงดนตรี การเต้นรำ โดยเฉพาะการเต้นจะคึ ที่นิยมเต้นกันในเทศกาลงานปีใหม่การเฉลิมฉลองปีใหม่ หรือ เขาะเจ๊าเว ซึ่งแปลว่า “ปีใหม่การกินวอ” จะเป็นช่วงเวลาที่บรรดาญาติมิตร ได้กลับมาร่วมงานกันที่บ้านอย่างพร้อมเพรียงไม่ว่าจะอยู่ใกล้ไกลเมื่อทราบว่าทางหมู่บ้านตัวเองจะจัดงานดังกล่าวก็จะกลับมาร่วมกัน เทศกาลของลาหู่ค่อนข้างจะมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แตกต่างจากชาติพันธุ์อื่นๆ ซึ่งปีใหม่หรือการกินวอนี้ มีความสำคัญต่อชาวลาหู่อย่างยิ่ง เพราะเป็นประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง การเฉลิมฉลองปีใหม่ใช้เวลาประมาณ 12 วัน แบ่งออกเป็น 2 ช่วง นั่นคือช่วงแรกเป็นการฉลองปีใหม่สำหรับผู้หญิง เรียกว่า”เขาะหลวง”หรือ “ปีใหญ่”เป็นระยะเวลา 6 วัน ช่วงที่สอง เป็นการฉลองปีใหม่สำหรับผู้ชาย เรียกว่า “เขาะน้อย” หรือ “ปีเล็ก” เป็นระยะเวลา 6 วัน