ชุมชนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงบ้านห้วยเสือเฒ่า
หมู่บ้านห้วยเสือเฒ่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลผาบ่อง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
ประวัติ
แต่เดิมมีถิ่นฐานตั้งอยู่ที่บ้านส่วยอู ต่อมาย้ายไปอยู่ที่บ้านหมากกาวยอน และบ้านขุนห้วยเดื่อ สาเหตุที่ย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆเนื่องจากชาวเขาจะมีการทำไร่ย้ายที่ เมื่อประมาณปี พ.ศ.2514 สมาชิกภายในชุมชนขุนห้วยเดื่อได้อพยพมาตั้งอยู่ที่บ้านห้วยเสือเฒ่า โดยครั้งแรกมีเพียง 3 ครอบครัว ต่อมามีคนจากบ้านหมากกาวยอนอพยพมาอาศัยเพิ่มซึ่งประกอบด้วยชาวกะเหรี่ยงแดง (คะยา/กะยา) กะเหรี่ยงคอยาว (กะยัน) และกะเหรี่ยงหูใหญ่ (กะยอ) หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2520 มีการสู้รบกันตามแนวชายแดนไทย-พม่า ระหว่างกลุ่มกองกำลังกระเหรี่ยงแดง (คะยา) กับทหารพม่า ทำให้สมาชิกภายในชุมชนที่อาศัยอยู่บ้านขุนห้วยเดื่อเดิมมีการอพยพลงมายังบ้านห้วยเสือเฒ่า และได้มีการกระจายตัวกันออกไปหลายหมู่บ้าน อาทิ บ้านห้วยปูแกง บ้านห้วยปูลิง บ้านสบป่องและบ้านห้วยเสือเฒ่า เป็นต้น
ประชากร
ห้วยเสือเฒ่าเป็นชุมชนพหุลักษณ์คือมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,023 คน ซึ่งมีทั้งคนที่มบัตรประชาชนไทย และประชากรที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน โดยประชากรภายในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ กะเหรี่ยงแดง กะเหรี่ยงคอยาว กะเหรี่ยงหูใหญ่ ม้ง และไตใหญ่ จำนวนประชากรของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงมีจำนวนมากที่สุดภายในหมู่บ้านประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งมาจากการย้ายถิ่นฐานจากเดิมคือบ้านขุนห้วยเดื่อมายังบ้านห้วยเสือเฒ่า โดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดงบางส่วนเป็นบุคคลไร้สัญชาติและบางส่วนมีการอพยพมาจากสาธารณรัฐพม่า รองลงมาคือกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาวที่มีจำนวนประชากรเป็นอันดับสองภายในหมู่บ้านประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงคอยาวที่เข้ามาอาศัยอยู่ภายในหมู่บ้านจากการเชิญชวนของนายทุน แต่เดิมชาวกะเหรี่ยงคอยาวมีที่มาจากสาธารณรัฐพม่า และได้ลี้ภัยสู้รบทางการเมืองเข้ามายังศูนย์อพยพบ้านในสอย เมื่อชาวกะเหรี่ยงคอยาวมีการย้ายถิ่นฐานเข้ามายังบ้านห้วยเสือเฒ่าก็ได้มีการนำชาวกะเหรี่ยงหูใหญ่ หรือ หูยาวเข้ามาด้วย แต่จำนวนประชากรของชาวกะเหรี่ยงหูใหญ่ หรือหูยาว จะมีไม่มากประมาณ 1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากมีการย้ายถิ่นฐานไปอยู่ยังต่างหวัดเช่นเดียวกับชาวกะเหรี่ยงคอยาว อาทิ จังหวัดเชียงใหม่ และ พัทยา เป็นต้น เมื่อมีการพัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวกะเหรี่ยงคอยาวได้ส่งผลให้มีกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเข้ามาอาศัยร่วมกันภายในหมู่บ้าน เช่น ไตใหญ่ และม้งประมาณ 4 เปอร์เซ็นต์
การประกอบอาชีพ
สำหรับการประกอบอาชีพประชากรภายในหมู่บ้านห้วยเสือเฒ่ามีการประกอบอาชีพการเกษตร เช่นทำไร่ ทำนา ปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด กระเทียม และเลี้ยงสัตว์ รับจ้างทั่วไป เช่น รับเหมาก่อสร้าง รักษาความปลอดภัย โรงงาน มีการค้าขายเพื่อการท่องเที่ยว เช่น ร้านค้าของชาวกะเหรี่ยงคอยาว ร้านค้า ร้านอาหารในชุมชน ลักษณะทางสังคม ชุมชนมีการรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเพื่อร่วมกันในการดำเนินกิจกรรมในด้านต่างๆ เช่น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. มีบทบาทหน้าที่ในการดูแลด้านสุขภาพของสมาชิกภายในชุมชน เพื่อให้สมาชิกภายในชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในด้านสุขภาพอนามัยไปในทิศทางอันดียิ่งขึ้น นอกจากนั้นยังมีบทบาทหน้าที่ในการเป็นตัวกลางของการสื่อสารข่าวด้านสาธารณสุข การแนะนำหรือเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพในกับสมาชิกภายในชุมชน ตลอดจนให้บริการสาธารณสุขด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังและป้องกันการเกิดโรค การดูแลผู้ป่วยติดเตียงหรือผู้พิการทางด้านร่างกาย การส่งต่อผู้ป่วยให้เข้ารับการบริการด้านสุขภาพและสาธารณสุข เป็นต้น กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยเสือเฒ่าเป็นการรวมกลุ่มของสมาชิกเด็กและเยาวชนภายในหมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เด็กและเยาวชนภายในหมู่บ้านเห็นถึงความสำคัญของปัญหาภายในชุมชนและร่วมกันแก้ปัญหาภายในชุมชน ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการทำจิตอาสาภายในชุมชน เช่น การทำความสะอาดหมู่บ้าน การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์โดยการเล่นกีฬา และกิจกรรมการแสดงเพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าทั้งกะเหรี่ยงแดงและกะเหรี่ยงคอยาว เป็นต้น กลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงแดง ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มดั้งเดิมภายในชุมชน แต่เนื่องจากการรวมกลุ่มที่ไม่ชัดเจนจึงทำให้กลุ่มทอผ้าของชาวกะเหรี่ยงแดงไม่เป็นที่รู้จักมากนัก โดยกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงแดงได้กลับมารวมตัวจัดตั้งกลุ่มกันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา นำโดยนางสาวพัชราภรณ์ และนางสาวกัลยา ที่มองเห็นเรื่องการอนุรักษ์ผ้าทอกะเหรี่ยงแดง ประกอบกับเรื่องการขาดรายได้ของชาวกะเหรี่ยงแดงภายในหมู่บ้าน จึงทำให้เกิดการฟื้นฟูกลุ่มทอผ้ากะแหรี่ยงแดงขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยจะทำการชักชวนสมาชิกภายในชุมชนที่มีความสามารถในการทอผ้ากะเหรี่ยงแดงมาเข้าร่วมกลุ่ม นอกจากนั้นกลุ่มทอผ้ากะเหรี่ยงแดงยังได้รับการสนับสนุนจากศูนย์การเรียนชาวไทยภูเขาแม่ฟ้าหลวงที่เข้ามาสนับสนุนในเรื่องของการประยุกต์รูปแบบเสื้อผ้า
ด้านศาสนาและวัฒนธรรม
ด้านศาสนา วัฒนธรรม และประเพณีนั้นชาวกะเหรี่ยงแดงนับถือศาสนาพุทธจำนวน 80 % ของหมู่บ้านผนวกกับการนับถือผีดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมาแต่เมื่อมีการก่อตั้งวัดขึ้นภายในหมู่บ้านจึงทำให้สมาชิกภายในชุมชนหันมานับถือศาสนาพุทธกันมากขึ้น นอกจากนี้ในชุมชนมีสมาชิกนับถือศาสนาคริสต์จำนวน 20 % ของหมู่บ้าน โดยจะแบ่งการนับถือศาสนาคริสต์ออกเป็น 2 นิกาย ได้แก่ กะเหรี่ยงแดงที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนท์ หรือ คริสต์เตียน และกะเหรี่ยงคอยาวจะนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก อย่างไรก็ตามในส่วนที่นับถือพุทธก็จะมีการนับถือผีร่วมด้วยเนื่องจากเดิมชุมชนมีการนับถือผีมาก่อนและจากที่เป็นหมู่บ้านที่อยู่ภายในหุบเขา มีพื้นที่ป่าไม้จำนวนมาก จึงเป็นที่มาของความเชื่อในเรื่องของผี ไม่ว่าจะเป็นผีเจ้าที่เจ้าทาง หรือ ผีเจ้าป่าเจ้าเขา ที่คอยรักษาคุ้มครองพื้นที่ภายในหมู่บ้าน เช่น บ้านเรือน ลำห้วย ไร่ สวน เป็นต้น โดยความเชื่อในเรื่องของการนับถือผีมีความสอดคล้องและเชื่อมโยงไปกับเรื่องสุขภาพ การเจ็บป่วย และการดำเนินชีวิตของสมาชิกภายในชุมชน ทำให้ภายในหมู่บ้านมีวัฒนธรรมการเลี้ยงเพื่อขอบคุณผี และการเลี้ยงเพื่อขอขมาผี โดยการเลี้ยงผีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการกล่าวคำขอบคุณและคำขอโทษในสิ่งที่ได้กระทำลงไป ตัวอย่าง หากมีคนในหมู่บ้านไม่สบายและไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลแล้วก็ยังไม่หายจากอาการเจ็บป่วยครอบครัวก็จะทำการขอขมาผีเพื่อให้ผู้ป่วยหายจากอาการเจ็บป่วย หรือภายหลังจากการทำนาทำไร่สมาชิกภายในชุมชนจะมีการเลี้ยงขอบคุณผีที่ช่วยให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการเลี้ยงผีน้ำที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการขอบคุณที่คอยดูแลแม่น้ำ ลำห้วยที่สมาชิกภายในชุมชนใช้อุปโภคและบริโภค เป็นต้น