ชุมชนชาติพันธุ์ไทลื้อบ้านออนหลวย
ชุมชนไทลื้อบ้านออนหลวยตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ ไปทางทิศตะวันออก ตามทางหลวงหมายเลข 1317 ประมาณ 40 กิโลมตร ชุมชนตั้งอยู่ที่ราบลุ่มน้ำแม่ออน
ประวัติ
เป็นชุมชนเก่าแก่ที่เกิดขึ้นจากการที่ชาวไทลื้อได้อพยพมาเนื่องจากการกวาดต้อนสมัยพระเจ้า กาวิละ ปกครองเมืองเชียงใหม่ (พ.ศ.2325-2358) ได้ขยายอำนาจไปยังรัฐฉานของพม่า และแคว้นสิบสองปันนาของจีน ได้รวบรวมชาวไทลื้อ ไทยอง ไทเขิน ที่อยู่ในเมืองต่างๆ เช่น เมืองยอง เมืองตุง เมืองลอ เมืองพวก เมืองข่า เมืองนุง เมืองหลวย เมืองยาง เมืองแลม เมืองติ่ง เมืองปู เมืองสาด เมืองแจด เมืองถึง เมืองกุน ฯลฯ มาเป็นจำนวนมาก ลงมาเมืองเชียงใหม่ คนไทลื้อจากเมืองหลวยชายแดนรัฐฉานและสิบสองปันนาที่ถูกกวาดต้อนมา จึงมาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยแถบลุ่มน้ำแม่ออนตั้งแต่ปี พ.ศ.2349 และเรียกตนเองว่าชาวไทลื้อ “เมืองหลวย” ซึ่งเป็นบรรพบุรุษคนไทลื้อในลุ่มน้ำแม่ออนในปัจจุบัน
ประชากร
ชุมชนไทลื้อออนหลวยปัจจุบันมีจำนวน 315 ครัวเรือน มีประชากร 992 คน เป็นชาย 490 คน หญิง 502 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลัก ทำนา ทำสวน ทำไร่ ปศุสัตว์เลี้ยงโคนม ค้าขาย รับราชการ และการไปทำงานรับจ้างภาคเอกชนในตัวเมือง เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ที่ราบลุ่มน้ำออนที่ต้นกำเนิดแม่น้ำสายนี้ไหลจากเทือกเขาขุนออ บริเวณบ้านขุนออน หมู่ 3 ตำบลออนเหนือ ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือห่างจากบ้านออนหลวยประมาณ 7 กิโลเมตร น้ำแม่ออนไหลผ่านและหล่อเลี้ยงพื้นที่ทำการเกษตรทำให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ ชุมชนตั้งอยู่ทั้งบ้านขุนออน บ้านปางตะเคียน บ้านหนองหอย บ้านหัวฝาย บ้านออนหลวย บ้านดอนทราย บ้านออนกลาง บ้านป่าตัน บ้านวาก บ้านเปาสามขา บ้านทุ่งเหล่า บ้านโห้ง บ้านริมออน บ้านร้องวัวแดง บ้านป่าเป้า บ้านสันโค้ง บ้านป่าไผ่ (แช่ช้าง) บ้านน้อย บ้านออน บ้านสันต้นบง จึงได้รับอานิสงค์จากลำน้ำดังกล่าวที่ไหลไปรวมกับลำน้ำแม่ปูคาเข้าสู่ที่นาของชาวนาในแถบบ้านสันป่าค่า บ้านแม่โฮม ในตำบลสันกำแพง และตำบลต้นเปา จึงทำให้ชุมชนในพื้นที่มีการจัดการน้ำในการทำเกษตรกรรมด้วยระบบชลประทานแบบเหมืองฝาย ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดน้ำเข้าไปสู่พื้นที่เกษตรของ เกษตรกรผู้ใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำแม่ออนตลอดไปจนถึงปลายน้ำแม่ออน โดยมีการสร้างกฎระเบียบการใช้น้ำร่วมกันอย่างยุติธรรม และทุกปีก่อนฤดูกาลทำนาจะมีพิธี “เลี้ยงผีขุนน้ำ” และการขุดลอกซ่อมแซมระบบเหมืองฝายตลอดลำน้ำแม่ออนมาโดยตลอดนับเป็นประเพณีที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ
ด้านสังคมและวัฒนธรรม
ด้านสังคม วัฒนธรรมนั้นชาวไทลื้อเนื่องจากเป็นกลุ่มชนที่นับถือพุทธศาสนา วิถีชีวิตจึงยึดโยงกับจารีตประเพณี พิธีกรรมที่มาจากการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและความเชื่อเรื่องผีเป็นหลัก ความเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับผี เช่น ผีขุนน้ำ ผีเสื้อวัด ผีเสื้อบ้าน ผีเสื้อเมือง ผีปู่ย่า ผีไร่ ผีนา ปู่แถนย่าแถน การสู่ขวัญวัวควาย การสืบชะตา การบนบานศาลกล่าว ผีเจ้าที่ ผีหม้อนึ่ง เครื่องลางของขลัง หมอแหก เสกเป่า เสกดื่มน้ำมนต์ น้ำมันมนต์ ลองของ ลงยันต์ หมอดู คาถาอาคม หมอผี ผีก๊ะ (ผีปอบ) ผีสือ (กะสือ) เป็นต้น ปัจจุบันความเชื่อเหล่านี้เริ่มจางลงและเลือนหายไปบางส่วนโดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ ส่วนประเพณีนั้นยังมีการปฏิบัติสืบทอดกันอยู่ เช่น ตานก๋วยสลาก การใส่ผี (แต่งงาน) การเสียผี (ค่าสินไหมล่วงละเมิด) ปอยหลวง (ฉลองเสนาสนะ) เป๊กตุ๊ (อุปสมบท) ปอยน้อย(บรรพชา) แห่ครัวตาน แห่กลองปู่จา ปี๋ใหม่เมือง ตานไม้ก้ำสะหลี ดำหัวคนเฒ่า ตานขันข้าว การทำบุญตามวันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นต้น สำหรับตัวอย่างสื่อพื้นบ้านของชาวไตลื้อที่แฝงฝังในสังคมวัฒนธรรมและมีการถ่ายทอดสู่คนรุ่นปัจจุบัน อาทิ การแต่งกาย ดนตรี ประเพณี พิธีกรรม เป็นต้น