ชุมชนชาติพันธุ์อาข่าบ้านแสนสุข
ชุมชนชาติพันธุ์อาข่าบ้านแสนสุขตั้งอยู่หมู่ที่ 9 ตำบลศรีค้ำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
ชุมชนชาติพันธุ์อาข่าบ้านแสนสุข มีประชากรทั้งหมด 800 คน แบ่งเป็นเพศชาย 480 คน เพศหญิง 320 คน อาศัยอยู่จำนวน 109 ครัวเรือน โดยอพยพมาจากหลายแห่งทั้งหมู่บ้านแสนใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ.2513 และต่อมากลุ่มที่สองอพยพมาเพิ่มเติมจากหมู่บ้านขาแหย่ง ตำบลเทอดไท อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดชียงราย ในปี พ.ศ.2517 และกลุ่มที่สามอพยพมาจากหมู่บ้านป่าดู่ ตำบลป่าซาง อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ในปีพ.ศ.2517 ทำให้อาข่าที่บ้านแสนสุขมีหลายกลุ่ม ซึ่งมีการนับถือศาสนาที่หลากหลายทั้งผีบรรพบุรุษ ศาสนาพุทธ คริสตร์ จีน และศาสนาอาข่าย้อง ในชุมชนจึงมีโบสถ์คริสต์ 2 แห่ง วัด 1 แห่ง ครัวเรือนส่วนการประกอบอาชีพทางการเกษตร ปลูกข้าว ข้าวโพด ขิง เลี้ยงสัตว์ หมู วัว ไก่ มีค้าขาย ขายของชำ ผลิตภัณฑ์ของอาข่า และรับจ้างทั่วไป
สังคมและวัฒนธรรม
ลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมนั้นโครงสร้างครอบครัวของชาวอาข่าผู้ชายถือเป็นหัวหน้าครอบครัว และมีการขยายครอบครัวออกทางผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายจะเป็นผู้สืบสายวงศ์ตระกูลของครอบครัว ดังนั้นชาวอ่าข่าจึงมีการสืบสายโลหิต โดยมีการนับลำดับชื่อบรรพบุรุษ อ่าข่าเรียกว่า “จึ” ในภาษาอาข่า ระบบการสืบทอดสายตระกูลนี้ ชาวอาข่าจะท่องเป็นบทสวดในการส่งวิญญาณของผู้เสียชีวิตให้ไปในอีกภพหนึ่ง หรือใช้เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจยามเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่ไม่ได้คาดคิด รวมทั้งใช้เป็นเครื่องมือในทางสังคมที่แสดงให้เห็นถึงลำดับความเชื่อมโยงของคนจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะเห็นได้จากชื่อของลูกชายที่จะต้องมีส่วนหนึ่งของชื่อมาจากชื่อของบิดา รูปแบบที่พบเห็นทั่วไปในกลุ่มชาวฮาหนี่-อ่าข่า ก็คือ คำท้ายของชื่อพ่อจะนำมาใช้เป็นคำแรกของชื่อลูกทั้งชายและหญิง เช่น พ่อชื่อ “ซองจ่า” ลูกจะถูกตั้งชื่อว่า “จ่าหล่อง” จากนั้นลูกของ “จ่าหล่อง” อาจจะถูกตั้งชื่อว่า “หล่องผ่า” เป็นต้น
วัฒนธรรมของชาวอาข่าจะเชื่อมโยงกับความเชื่อโดยอาข่าที่ยังนับถือผีบรรพบุรุษอยู่จะมีการประเพณีพิธีกรรมต่างๆตามวันสำคัญในรอบปี ขณะที่กลุ่มอื่นที่เปลี่ยนศาสนาก็จะเลิกประกอบพิธีกรรมแบบดั้งเดิมแต่จะประกอบพิธีกรรมแบบใหม่ตามความทางศาสนาที่ตนเองนับถือ เช่น อาข่ากลุ่มที่นับถือคริสต์ก็จะไม่ทำพิธีกรรมกินข้าวใหม่ที่เคยนำเอาข้าวใหม่ไปเซ่นไหว้ผีที่บ้านก็จะเปลี่ยนมาทำพิธีกรรมกินข้าวใหม่โดยถวายแด่พระผู้เป็นเจ้าตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์แทนในโบสถ์ ขณะที่ครัวเรือนที่นับถือผีก็ยังคงปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา สำหรับกลุ่มที่ยังคงนับถือผีเป็นกลุ่มที่มีการประกอบประเพณีพิธีกรรมที่สำคัญของชุมชน โดยมีความเชื่อในเรื่องจิตวิญญาณ ภูตผี ปีศาจ ไสยศาสตร์ สิ่งเร้นลับ พิธีกรรมที่สืบทอดจึงถูกปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ความเชื่อเรื่องผีของอาข่าหรือ “แหนะ” มีดังนี้
1.ผีเรือน หรือผีบรรพบุรุษ ชาวอาข่าถือว่าเป็นผีที่ดีที่สุด เพราะเป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่คอยคุ้มครองดูแลครอบครัว มาโดยตลอดหลายชั่วอายุคน
2.ผีหมู่บ้าน ก็คือผีที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ที่คอยปกป้องรักษาคนในชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุข จะสถิตย์อยู่ที่ศาลผีประจำหมู่บ้าน บริเวณทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งศาลนี้จะต้องสร้างก่อนที่จะตั้งหมู่บ้าน
3. ผีทั่วไป เป็นผีที่สิงอยู่ประจำที่ต่างๆ ทั่วไปนอกจากผีที่บอกมาในเบื้องต้นแล้วก็ยังมี ผีไฟ ผีดิน ผีน้ำ ผีดอย ผีฟ้าผ่า ผีจอมปลวก เป็นต้น
4. ผีเร่ร่อน คือผีตายทั้งกลมกับผีตายโหง ตามความเชื่อของอาข่าถือว่าทั้งสองประเภทนี้เป็นผีที่ไม่ดี เป็นผีที่ไม่มีที่อยู่ ร่อนเร่ไปทั่ว บางครั้งคอยหลอกหลอนคนที่จิตใจไม่เข้มแข็ง ตลอดชีวิตของชาวอาข่า ผูกพันอยู่กับภูตผีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาเซ่นไหว้สิ่งเหล่านี้ จะทำให้ชีวิตอยู่ดีมีสุข หากลบหลู่จะทำให้มีอันเป็นไป และให้โทษต่อผู้คน ต้องทำพิธี เซ่นไหว้ขอขมา ก่อนจะทำการใดๆ จะต้องเสี่ยงทายให้แน่ใจเสียก่อน ฉะนั้นในรอบปี ชาวอาข่าจึงมีพิธีกรรมต่างๆ ทั้งข้อห้าม และข้อปฏิบัติที่แยกย่อยออกมากมาย นอกจากนี้ชาวอาข่ายังเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ หมู่บ้านชาวอาข่าจึงมี สุสาน เพราะเชื่อว่าคนตายที่นำไปฝังไว้ในบริเวณเดียวกัน เมื่อเกิดใหม่จะได้อยู่ร่วมกันอีก อาข่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความเชื่อเพื่อการดำรงชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากความผูกพันของชีวิตกับธรรมชาติ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวอาข่าใช้ความเชื่อในการปฏิบัติต่อตนเอง และต่อธรรมชาติ และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเกิดโลก และสรรพสิ่งต่างๆไว้เป็นตำนานถ่ายทอดมายังรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน