คอลเลคชั่น – ชาติพันธุ์ – ไตลื้อ – ฝ้าย กับ วิถีชีวิตคนไตลื้อ

ฝ้าย ไทลื้อ ชุมชนไทลื้อ บ้านออนหลวย อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่

ขั้นตอนในการนำฝ้ายมาแปรรูป ต้องใช้เวลา ความอดทน และความเพียรพยายามอย่างมาก ฝ้ายจึงเป็นเอกลักษณ์ของผู้หญิงไทลื้อ แห่งบ้านออนหลวย โดย “แม่ญิงไทลื้อ ต้องปั่นฝ้ายจ่าง”

ฝ้าย มีลักษณะ ดอกปุย สีขาว นิ่มฟู ในอดีต ฝ้ายถือเป็นเครื่องวัด ฐานะทางครอบครัว สังคม โดยมีผู้สูงอายุ กล่าวไว้ว่า “บ้านไผมีฝ้ายนัก เหมือนมีคำนัก สามารถไจ้ฝ้ายแทนตัวเงิน จับจ่าย ซื้อของ แลกเปลี่ยนแม้กระทั่งสินค้าที่ใหญ่กว่านั้นก็ยังได้”
ฝ้ายมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทลื้อ บ้านออนหลวย ในสมัยก่อน อย่างมาก เพราะ เมื่อนำฝ้ายมาแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องนุ่งห่ม เสื้อ กางเกง ผ้าซิ่น (ผ้าถุง) แบบชาวไทลื้อ จะช่วยเพิ่มมูลค่าของ ฝ้าย ทำให้สามารถหล่อเลี้ยงและจุนเจือคนในครอบครัวได้ นอกากนี้ การนำฝ้ายเส้นเล็กมารวมกันให้ได้ 8 เส้น ทำเป็นม้วน สามารถใช้เป็นด้ายมงคลสำหรับมัดหมายมือ ให้กับลูกหลาน เพื่อเป็นศิริมงคล ในวาระต่างๆ เช่น งานแต่ง หรือ งานประเพณีต่างๆ

เกร็ดความรู้

การนำดอกฝ้ายมาแปรรูป หรือเรียกภาษาท้องถิ่นไทลื้อว่า “การปั่นฝ้าย “นั้นมีขั้นตอนการปั้นฝ้ายดังนี้ 1. นำไปตากแดด จากนั้นนำฝ้ายมาอัดพื่อนำเมล็ดออกมา ให้หมดก่อน แล้วจึงนำฝ้ายมาดีดให้ฟู หลังจากที่ฟูได้ที่แล้ว 2. นำฝ้ายมาคลึงให้เป็นทรงกระบอก แล้วจึงจะนำไปปั่น เพื่อให้ฝ้ายออกมาเป็นเส้น 3. นำฝ้ายไปฆ่า การฆ่าฝ้าย คือการนำฝ้ายไปต้มในน้ำข้าว แล้วนำมาห้อยกับราวไม้ แล้วทำการสะบัด ดึง ให้ฝ้ายมีความเหนียว คงทน 4. มัดเป็นม้วน หรือ เรียกภาษาถิ่นว่า แยะหื่อปิ๊นต่อน ปิ๊นไจ่ 5. เพิ่มมูลค่าของฝ้ายด้วยการนำไปทำเครื่องนุ่งห่ม เช่น กางเกง ผ้าซิ่น (ผ้าถุง)