เครื่องแต่งกายกับอัตลักษณ์ความเป็นลาหู่

ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่บ้านผาเผือก หมู่ที่ 10 ตำบลปางมะผ้า อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เสื้อผ้า และชุดสวมใส่ของชาวลาหู่จะมีอัตลักษณ์ที่สื่อสารความเป็นชาวลาหู่ให้มีความแตกต่างไปจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่น

การแต่งกายของชนเผ่าลาหู่ดำหรือลาหู่นะหรือลาหู่เฌเล

สำหรับการแต่งกายนั้นผู้หญิงสวมกางเกงดำเป้าต่ำเสื้อสีดำคอกลมแขนยาวผ่าหน้าอกยาวลงถึงน่อง ใช้ผ้าสีขาวเย็บทับสีดำ โดยการเย็บทีละเส้นจนเป็นแถบสีขาวสวยงาม พร้อมทั้งมีสีแดงและสีน้ำเงินแซมระหว่างแถบสีขาว และการเย็บชุดลาหู่นั้นไม่สามารถเย็บเครื่องจักรเย็บเนื่องจากว่าวางแนวยากทำให้เวลาเย็บไม่ตรง ไม่เรียงเป็นแถวเดียวกัน ชาวลาหู่จึงนิยมเย็บด้วยมือทำให้ละเอียด สวยงามและมีความคงทน ซึ่งเสื้อผู้หญิงใช้เวลาในการเย็บประมาณ 20–30 วัน และสีที่นำมาใช้นั้นก็มีความหมายตามความเชื่อของลาหู่ อาชีพหลักคือการทำไร่ทำนาจะแทนพืชพันธุ์อาหารต่างๆ และอีกความหมายนั้นสื่อว่าเป็นชาติพันธุ์ที่รักความสงบ ร่มเย็น อยู่คู่กับป่าและใช้ป่าเป็นแหล่งที่หาอาหารในการดำรงชีวิตเป็นหลัก ขณะที่การแต่งกายของผู้ชาย กางเกงดำเป้าต่ำ ผ้าคาดเอวสีแดง เสื้อคอกลมแขนยาวสีดำผ่าหน้าอก ใช้แค่ผ้าสีดำและรองชั้นล่างด้วยสีน้ำเงินใช้เวลาในการเย็บประมาณ 1-2 วันเท่านั้น การแต่งกายมีความสำคัญมากเพราะถ้ามีพิธีกรรมที่สำคัญทุกคนในหมู่บ้านสมัยก่อนต้องสวมชุดลาหู่เท่านั้นในการเข้าร่วมพิธีต่างๆของหมู่บ้าน ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไม่เคร่งครัดเหมือนสมัยก่อน ประกอบกับการรับวัฒนธรรมจากภายนอกชุมชนทำให้การแต่งกายมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างโดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่

เกร็ดความรู้

สีและความเชื่อของชาวลาหู่ คือ สีดำสื่อถึงหมูดำที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรมสำคัญต่างๆในวิถีชีวิต ชาวลาหู่จะใช้หมูดำเท่านั้นในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ สีขาวสื่อถึง ข้าวปุกซึ่งทำมาจากข้าวเหนียวที่นึ่งเสร็จแล้วมาตำแล้วปั้นเป็นก้อนกลมๆ เป็นเครื่องถวายเทพเจ้าอื่อซา ในช่วงปีใหม่เทศกาลกินวอ สีแดงสื่อถึงเลือดหมูที่นำมาประกอบพิธีกรรม สีน้ำเงินหรือเขียวสื่อถึงชาวลาหู่