ประเพณี พิธีกรรมชุมชนชาติพันธุ์ไตลื้อบ้านออนหลวย
ชุมชนชาติพันธุ์ไตลื้อบ้านออนหลวย ตำบลออนเหนือ อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่
ประเพณี พิธีกรรม ชาวไตลื้อเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือพุทธศาสนาแบบชาวบ้านที่ควบคู่ปะปนไปกับการนับถือผี อำนาจเหนือธรรมชาติ ไสยศาสตร์ หรือเป็นการผสมผสานกันไประหว่าง พุทธ พราหมณ์ ผี ในความเชื่อทางศาสนานั้นชาวไตลื้อ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ทั้งหญิงและชายจะไปทำบุญถือศีลในวันพระที่สำคัญๆ เช่น เกี๋ยงเป็ง (วันเพ็ญเดือนสิบสอง) เข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น สำหรับความเชื่อเป็น 2 ลักษณะใหญ่ๆ คือ ลักษณะแรกความเชื่อที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร คือเชื่อตามบทบัญญัติของพระธรรมคัมภีร์ต่างๆ ทั้งที่มาจากวัด ที่เป็นคัมภีร์ใบลานคำสอนต่างๆ เช่น เทวดาสอนโลก ธรรมต่างๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติชี้ให้เห็นบาปบุญคุณโทษที่มีอิทธิพลต่อการดำรงชีวิต นอกจากวัดแล้วผู้รู้ในชุมชนหมู่บ้าน เช่น ปู่จารย์ หมอยา ที่เป็นแหล่งความรู้และมีบทบาทเป็นผู้นำทางด้านความเชื่อในการประกอบพิธีกรรมทางพื้นบ้านที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชน และลักษณะที่สองความเชื่อที่เป็นมุขปาฐะ คือ ความเชื่อโดยการจดจำ บอกเล่า หรือปฏิบัติต่อๆกันมาของชุมชนหรือเป็นจารีตประเพณีที่สั่งสมกันมา หลายชั่วอายุคน เป็นกรอบของสังคมที่มีผลต่อวิถีชีวิตของชาวไตลื้อนอกจากนี้ยังได้แบ่งแยกย่อยเกี่ยวกับความเชื่อของชาวไตลื้อ เช่น ความเชื่อเรื่องบุคคล ความเชื่อในเรื่องสิ่งแวดล้อม ความเชื่อในเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธ์ ความเชื่อเรื่องเพศ ความเชื่อเรื่องสุขภาพและ สวัสดิภาพ ความเชื่อเรื่องโชคลาง และของขลัง ความเชื่อเรื่องผี นรก-สวรรค์ เป็นต้น สำหรับประเพณีและพิธีกรรมของชาวไตลื้ออาจแยกได้เป็น 2 ระดับคือ ระดับแรกประเพณีและพิธีกรรมในระดับชุมชน ได้แก่ ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตทั่วไป เช่น การตาย การแต่งงาน การเลี้ยงเสื้อบ้าน ประเพณีและพิธีกรรมเกี่ยวกับการเกษตร เช่น การเลี้ยงผีฝาย การทำบุญทานข้าวใหม่ ประเพณีและพิธีกรรมทางศาสนา เช่น สืบชะตาหมู่บ้าน ทานก๋วยสลาก ปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) เกี๋ยงเป็งและการเผาหลัวพระเจ้า เป็นต้น และ ประเพณีและพิธีกรรมในระดับปัจเจกและครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพิธีกรรมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย แบบพื้นบ้าน ได้แก่ การฮ้องขวัญ การส่งเคราะห์ ปูจาเตียน ปูจาข้าวลดเคราะห์ สืบชะตา เป็นต้น นอกจากนี้ประเพณี พิธีกรรมต่างๆที่กล่าวมาจะเชื่อมโยงกับศิลปวัฒนธรรมการละเล่น การแสดงพื้นบ้านต่างๆ เช่น การฟ้อนลื้อ ฟ้อนจ้อง การแสดงกลองมองเซิง กลองปูจา การขับลื้อ เป็นต้น