พิธีกรรมสะดังบลอยป๊อกของชุมชนชาติพันธุ์ดาระอั้งบ้านห้วยจะนุ

ชุมชนชาติพันธุ์ดาระอั้งบ้านห้วยจะนุ ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่

พิธีกรรมสะดังบลอยป๊อก เป็นการรวมตัวกันทำบุญของคนในหมู่บ้านในทุกๆวันพระขึ้น 15ค่ำในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาซึ่งในหมู่บ้านห้วยจะนุจะแบ่งออกเป็นป๊อกบ้านหรือกลุ่มต่างๆ หลายป๊อก แต่ละป๊อกมีประมาณสิบกว่าหลังคาเรือน เมื่อถึงวันพระใหญ่ขึ้น 15 ค่ำ ก็จะมีการทำบุญร่วกันของคนแต่ละป๊อกบ้าน โดยแต่ละป๊อกสลับสับเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพ งานจะเริ่มก่อนวันโกนคือ ขึ้น 13 ค่ำ ป๊อกบ้านใดเป็นเจ้าภาพก็จะมีการแต่งดาต้นเงินมีการห้อยของกินของใช้ที่ต้นเงิน คล้ายต้นผ้าป่า แต่ละป๊อกจะมีตุงรูปสัตว์มาตกแต่งป๊อกบ้านละหนึ่งผืน หากผู้ใดมีจิตศรัทธาจะเอามาเพิ่มก็ได้ มีการทำอาหารเลี้ยงดูกัน ตกกลางคืนก็จะมีเต้นรำวง หรือดนตรีพื้นบ้านบรรเลงบริเวณเตรียมงานอย่างครึกครึ้น รุ่งเช้าของวันขี้น 14 ค่ำ ลูกหลานก็จะเอาเครื่องนอน ของใช้ไปส่งคนเฒ่าคนแก่ที่จะไปจำศีลนอนวัด พอตกตอนเย็นก็จะมีการแห่ต้นเงินพร้อมของที่จะนำไปถวายพระโดยมีคนในทุกป๊อกบ้านม่ร่วมกันแห่ต้นไปที่วัด ในตอนกลางคืนก็จะมีการฟังพระธรรมเทศนาจากพระฟังต่อๆกันยาวตลอดคืน โดยมีการสลับสับเปลี่ยนกันระหว่างพระสงฆ์ กับมัคคาทายก จเร ผู้รู้ มาอ่านธรรมจากใบลานเป็นภาษาดาระอั้ง คนเฒ่าคนแก่ที่ไปจำศีลนอนวัดก็จะนั่งฟัง หากเมื่อยก็นอนเอนหลังฟังธรรมกันไป ใครง่วงก็งีบหลับไป ใครไม่ง่วงก็ฟังกันต่อ ระหว่างนั้นก็จะมีเด็กๆ เยาวชน กลุ่มหนุ่มสาวช่วยกันนำน้ำปานะมาถวายพระสงฆ์ นำขนม อาหารว่าง น้ำดื่มมาเลี้ยงผู้สูงวัยหรือพุทธศาสนิกชน (บางทีคนวัยกลางคนก็มานอนวัด) ที่มานอนวัดฟังธรรมและรอรับพรจากผู้รับ กิจกรรมนี้เป็นการฝึกเป็นผู้ให้ผู้รับได้ดีมาก
พอรุ่งเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ แม่บ้าน เยาวชนจะช่วยกันทำอาหารคาวหวานไปถวายพระและนำไปเลี้ยงคนที่ถือศีลนอนวัด เมื่อรับพรเป็นที่เรียบร้อยทั้งคนที่นอนวัด ชาวบ้านที่ไปทำบุญซึ่งมีทั้งเด็ก หนุ่มสาว ผู้ใหญ่ก็จะตั้งวงรับประทานอาหารร่วมกันที่วัด พร้อมหน้าพร้อมตาทั้งปู่ย่าตายาย พ่อแม่พี่น้องลูกหลาน จากนั้นลูกหลานก็ช่วยกันขนข้าวของของผู้สูงอายุที่ไปนอนวัดกลับบ้านแต่ละครอบครัวก็มีการรับประทานอาหารเย็นร่วมกันอีกครั้ง กิจกรรมตามประเพณีสะดังบลอยป๊อกถือว่าเป็นกิจกรรมส่งเสริมเรื่องของพระพุทธศาสนาให้คนทำความดีทั้งเรื่องการให้ทาน ทำบุญ ถือศีล ฟังธรรม ในทางโลกก็ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว ส่งเสริมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้ดียิ่ง การได้ฝึกเป็นผู้ให้ ผู้รับ เสียสละ การแบ่งปัน เผื่อแผ่ มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นในกิจกรรมช่วยกันเตรียมอาหารทำบุญของคนสามวัย

จากตัวอย่างสื่อพื้นบ้านในมิติทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้งนั้นสื่อพื้นบ้านจะแฝงฝังในกระบวนการการดำเนินวิถีชีวิตที่สัมพันธ์สอดคล้องกับความเชื่อทางศาสนา กิจวัตรประจำวันผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงการละเล่นพื้นบ้านที่ช่วยผ่อนคลายและสร้างความสามัคคีของคนในชุมชน ดังนั้นสื่อพื้นบ้านจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนในชุมชน