ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ
ชุมชนชาติพันธุ์ลัวะบ้านสันเจริญ ตำบลแม่ยาว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ดนตรีมีบทบาทต่อวิถีชีวิตลัวะในงานประเพณี พิธีกรรมต่างๆทั้งงานมงคล งานรื่นเริง งานฉลอมฉลอง เนื่องจากคนลัวะเชื่อว่าดนตรีเป็นเสียงแห่งความสุข ดังนั้นหากมีการนำดนตรีเข้ามาในงานมงคลงานรื่นเริงจะช่วยให้งานนั้นมีความสุขมากขึ้น เครื่องดนตรีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการบรรเลงประกอบการขับร้อง “จ่ายปลั่ง” บ่งบอกแหล่งที่มาของคนโดยการแสดงออกผ่านสำเนียงการขับร้องที่แบ่งออกเป็น สิบสองปันนา และสำเนียงลุ่มน้ำโขง เป็นบทเพลงลัวะที่สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของคนลัวะได้อย่างชัดเจน ผ่านการบอกเล่าเรื่องในอดีต การเดินทางแนแสนไกล การหาเลี้ยงครอบครัว และความอดทนต่อความลำบากที่ผ่านมาในอดีตได้อย่างชัดเจน ปัจจุบันการขับร้องเพลงจ่ายปลั่ง ไม่ค่อยพบได้ทั่วไป แต่ยังคงมีการฟื้นฟูทางวัฒนธรรมของลัวะอย่างต่อเนื่อง โดยนักดนตรี และคนในชุมชนที่ร่วมมือกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมลัวะให้ยั่งยืน ส่งผลให้ปัจจุบันการขับร้องเพลงจ่ายปลั่ง ยังคงมีการขับร้องกันอย่างมีความสุขในชุมชน เครื่องดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลัวะ ได้แก่
1) เซาะ (สะล้อ)
เป็นเครื่องดนตรีตระกูลเครื่องสาย ประเภทเครื่องสีเพื่อให้เกิดเสียงโดยการใช้ไม้สี สภาพโดยทั่วไปของเซาะ มีลักษณะทางกายภาพ และรายละเอียดของเครื่องคือสะล้อ ที่ใช้ในวัฒนธรรมล้านนา ขนาดของเซาะ ส่วนกะโหลกมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 11 เซ็นติเมตร หนา 8 เซ็นติเมตร ส่วนทันทวน กว้าง 2 เซ็นติเมตร ยาว 70 เซ็นติเมตร โดยมีระบบเสียงใช้ระบบการตั้งเสียงเช่นเดียวกันกับสะล้อเล็กของไตยวน คือตั้งแบบลูกสี่แต่จะเทียบให้เท่ากับเสียงสะติง เป็นหลัก ซึ่งในที่นี้เซาะจึงตั้งเสียงได้เท่ากับ ที – มี เขียนเป็นสากล ส่วนการบรรเลงมีลักษณะเช่นเดียวกับการสีสะล้อของไทยวน กล่าวคือ ใช้ง่ามนิ้วมือซ้ายประคองไว้ที่คันทวนของเซาะ ใช้นิ้วมือกดที่สายเพื่อเปลี่ยนระดับเสียง มือขวา ใช้จับคันสีให้หงายมือขึ้น วางปลายคันสีไว้บนง่ามนิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้ ประคองให้อยู่ไม่หล่น ให้สีเข้า ออก ที่สาย
2) สะติง (ซึง)
เป็นดนตรีตระกูลเครื่องสาย ประเภทดีด เพื่อให้เกิดเสียง สะติงของลัวะมีลักษณะทางกายภาพ และการใช้งานต่างๆ เช่นเดียวกันกับซึงขนาดเล็กในวัฒนธรรมล้านนา ขนาดของสะติง ตัวเครื่องกว้าง 25 เซ็นติเมตร หนา 5 เซ็นติเมตร ส่วนคอจรดหัวเครื่อง หน้ากว้าง 4 เซ็นติเมตร ยาว 26 เซ็นติเมตร มีระบบเสียงใช้ระบบการตั้งแบบลูกสี่ เช่นเดียวกับซึงเล็กของไตยวน เป็นแบบ ที -มี โดยสายทุ้ม หรือสายบนเป็นเสียง ที และสายเอกหรือสายล่างเป็นเสียง มีวิธีการบรรเลงโดยใช้สะพายสายสะพานของเครื่องบนบ่าข้างใดข้างหนึ่ง มีไม้ดีด โดยดีดด้วยมือขวา มือซ้ายทำหน้าที่กดโน๊ตลงบนคอเครื่องตามเสียง และจังหวะของเพลง
3) ครึง (กลองซิ้งหม่อง)
เป็นดนตรีตระกูลเครื่องหนัง มีบทบาทการนำมาใช้ประกอบในขบวนแห่ในงานประเพณีประจำปีของลั๊วะ จะเป็นงานมงคล หรืองานเฉลิมฉลอง มีลักษณะทางกายภาพ เป็นกลองทรงรูปถ้วย หรือทรงกลองยาว มีเส้นผ่าศูนย์กลางของหน้าเครื่อง 27 เซ็นติเมตร สูง 75 เซ็นติเมตร บริเวณหน้ากลองมีการติดจ่า หรือข้าวแป้งเพื่อให้เสียงมีคุณภาพที่ต้องการ ระบบเสียงมีเสียงเดียว โดยคาดคะเนเสียงที่ต้องการ จากความตึงของหน้ากลอง วิธีการบรรเลงสะพายสายสะพายเครื่องไว้ที่บ่าข้างใดข้างหนึ่ง ตีด้วยฝ่ามือ
4) ใช้ มีลักษณะทางกายภาพ ระบบเสียง และวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกับฉาบขนาด 10 นิ้วในวัฒนธรรมดนตรีล้านนา
5) ปง มีชื่อเรียกทั่วไปว่า โหม่ง ลักษณะทางกายภาพ ระบบเสียง และวิธีการบรรเลงเช่นเดียวกันกับ
โหม่ง ขนาด 8 นิ้ว ในวัฒนธรรมดนตรีล้านนา
3.ด้านการละเล่น ฟ้อนรำ
การละเล่น ฟ้อนรำ จะมีเครื่องดนตรี ได้แก่ กลองยาวเล็ก ซึ่งใช้ประกอบเพลงเต้นของชาติพันธุ์ลั๊ว ในเทศกาลประเพณีต่างๆ เช่น ตรุษจีน ขึ้นบ้านใหม่ กินวอ ปีใหม่ เป็นต้น ประเภทการแสดงของชาติพันธุ์ ได้แก่
1) เต้นสะบัดผม ในการแสดงประเพณีปีใหม่ การแต่งกายแต่งชุดประจำชนเผ่าลั๊ว ในการเต้นนี้ต้องใช้คนที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง เพราะจะใช้ในส่วนของลำคอในการสผมในการเต้นระกอบเพลง ซึ่งถ้าคนสุขภาพไม่แข็งแรงก็จะทำให้มีอาการเวียนศรีษะ และปวดเคล็ดในต้นคอได้
2) เต้นสวัสดีปีใหม่ จัดในเทศกาลปีใหม่ กินวอ โดยมีการแต่งกายแต่งชุดประจำชนเผ่าลัวะ
3) เต้นประกอบเพลง ในงานขึ้นบ้านใหม่ การแต่งกายแต่งชุดประจำชนเผ่าลัวะ
4) เต้นส่มกัน ในประเพณีปลูกข้าว ทำนา การแต่งกายแต่งชุดประจำชนเผ่าลั๊ว ซึ่งจะเต้นท่าเลียนแบบวิธีการทำนา ได้แก่ท่า ปลูกนา ดำนา เกี่ยวข้าว ตีข้าว เป็นต้น การเต้นประกอบเพลงเหล่านี้นั้นสื่อความหมายถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ส่วนใหญ่จะเต้นในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น งานเทศกาลปีใหม่ กินวอ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ และงานประจำจังหวัด เป็นต้น