เอกลักษณ์การแต่งกายที่โดดเด่นของชาวปกาเกอะญอ
ชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอบ้านห้วยบง ตำบลวัดจันทร์ อำเภอกัลยาณิวัฒนา จังหวัดเชียงใหม่
การแต่งกาย เป็นสื่อพื้นบ้านที่แสดงออกถึงรูปแบบอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ที่ปรากฎให้เห็นจากภายนอกผ่านเครื่องแต่งกายทั้งชายและหญิง โดยการแต่งกายของชายสมัยก่อนจะสวมเสื้อทรงกระบอกยาวเหมือนหญิงสาว แต่จะเป็นสีขาวปนแดงซึ่งทำมาจากสีธรรมชาติ ภายหลังการแต่งกายของชายจะมีอยู่ 2 ท่อน ท่อนบนจะเป็นเสื้อทอสีแดง ท่อนล่างจะเป็นกางเกงสีดำหรือกางเกงสะดอ คาดศีรษะด้วยผ้าสีแดงหรือสีขาว ส่วนผู้หญิงการแต่งกายจะแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ 1) เด็กหญิงและหญิงสาวพรหมจรรย์จะแต่งกายเป็นชุดทรงกระบอกสีขาว เป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์สาวโสดยังไม่ได้แต่งงาน ตามจารีตของปกาเกอะญอผู้ที่ยังมิได้แต่งงานจะสวมชุดขาวและไม่สามารถที่จะไปแต่งชุดสตรีที่แต่งงานแล้วได้เด็ดขาด หากมีหนุ่มสาวประพฤติผิดประเวณีก่อนแต่งงาน ผู้อาวุโสจะรีบจัดการให้มีการทำพิธีขอขมาเทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ หรือเรียกกันว่า “ต่าทีต่าเต๊าะ” แล้วจัดการให้แต่งงานโดยเร็วที่สุดมิเช่นนั้นคนในชุมชนจะเกิดล้มป่วยไม่สบาย หรือทำมาหากินไม่ขึ้น ไม่ได้ผล สัตว์เลี้ยงจะล้มตาย เป็นต้น 2) การแต่งกายด้วยชุดขาวจะสิ้นสุดลงเมื่อแต่งงาน หญิงอยู่ในสถานภาพแต่งงานแล้ว จะแต่งตัวแบ่งออกเป็น 2 ท่อน ท่อนบนจะเป็นเสื้อดำประดับด้วยลูกเดือย นุ่งซิ่นสีแดงมีลวดลายที่ทำมาจากสีธรรมชาติเรียกว่า “หนี่คิ” ผู้ที่มีสถานภาพเป็นแม่บ้านแล้ว ห้ามมิให้กลับไปแต่งชุดสีขาวเป็นอันขาด แม้ว่าสามีจะเสียชีวิตหรือหย่าร้างกันไปแล้วก็ตาม แม้แต่จะลองแต่งชุดสาวโสดก็ไม่ได้เพราะชุดขาวจะใส่ได้เฉพาะผู้ที่เป็นสาวโสดเท่านั้น
นอกจากนี้การใช้ผ้าโพกศีรษะของผู้หญิงปกาเกอะญอในสมัยก่อนจะทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นสีขาวเดินด้วยลายสีแดง มีปล่อยชายผ้าทั้งสองข้างยาวประมาณ 1 คืบ หรือจะเป็นผ้าฝ้าย ทั้งสาวโสดและหญิงที่แต่งงานแล้วจะโพกหัวเหมือนกัน แต่ปัจจุบันมักใช้ผ้าโพกหัวกันหลากหลาย ทั้งผ้าทอและหาซื้อจากตลาด บางครั้งเป็นผ้าขนหนูก็มี หญิงในอดีตจะใส่ตุ้มหูขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “หน่าดิ” มีการใส่สร้อยคอลูกปัดสีต่างๆที่คอ มีการคลุมแขนและขาด้วยที่เรียกว่า “จึ๊พล่อ ข่อพล่อ”