ประเพณี พิธีกรรมชาติพันธุ์บีซู
ชุมชนชาติพันธุ์บีซูบ้านดอยชมภู ตำบลโป่งแพร่ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย
1
ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชน
โดยในบ้านจะมีหิ้งผีและแต่ละบ้านไหว้เฉพาะผีสายตระกูลที่ตนเองนับถือ เรียกว่า “อังบาอังตาอังแด” ในอดีตการไหว้ผีในบ้าน แบ่งเป็น 2 ส่วนคือ
1.1 ผีบรรพบุรุษหรือผีพ่อแม่ปู่ย่านั้นจะตั้งหิ้งบริเวณเขตของที่นอน หิ้งผีประจำบ้านถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ โดยในอดีตใช้การแบ่งพื้นที่นอนและพื้นที่บ้านด้วยการใช้ไม้กั้น โดยห้ามคนภายนอกที่ไม่ใช่คนในบ้านข้ามเขตเข้าไปในบริเวณที่นอน หากข้ามไปจะถือว่าผิดผี แม้จะนับถือผีข้างพ่อ แต่เมื่อญาติฝ่ายผีแม่ตายและมีลูกสาวที่เปลี่ยนไปถือผีฝ่ายชายแล้วก็ต้องตามให้มาร่วมงานไหว้ผีด้วยเช่นกัน
1.2 การไหว้ผียุมแปง (เตาไฟ) ในสมัยก่อน ลักษณะบ้านบีซูเป็นบ้านหลังใหญ่ มีเตาไฟอยู่ในเรือน บริเวณนี้มีการตั้งหิ้งยุมแปงเป็นที่ศักสิทธิ์ของแต่ละครัวเรือน เป็นของที่รักษาคนในเรือนหลังนั้นๆ แต่หากทำอะไรผิดไม่ถูกใจผีที่รักษาบ้านหลังนั้นๆ ผีอาจลงโทษคนในบ้านได้ จึงมีการไหว้หิ้งยุมแปงในเดือน 8 ของทุกปี และจะทำการไหว้ยุมแปงทุกครั้งที่มีคนในบ้านเจ็บป่วย ปัจจุบันเมื่อมีการใช้แก็สหุงต้มเข้ามาแทนที่ทำให้เตาไฟกลางบ้านหายไป แต่บีซูส่วนหนึ่งยังคงนับถือยุมแปงดังเดิม แม้จะไม่ตั้งหิ้ง ก็มีการไหว้บอกกล่าวต่อยุมแปงในส่วนพื้นที่เตาไฟหรือที่ประกอบอาหาร
2
ประเพณีไหว้ “อังจาวไว”
อังจาว หรือผีเสื้อบ้าน มีบุคคลสำคัญที่เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมในหมู่บ้าน เรียกว่า ปู่ตั้ง ซึ่งมีผู้ช่วยเรียกว่า “ม้า” ชนเผ่าพื้นเมืองบีซูเชื่อว่า อังจาว เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยคุ้มครองหมู่บ้านของตนให้ปลอดจากอันตรายได้ ดังนั้นคนบีซูจึงถือเป็นประเพณีที่สำคัญพิธีอังจาวไวนั้นถือเป็นพิธีกรรมสำคัญที่บีซูทั้งบ้านดอยชมภู บ้านผาแดง และบ้านปุยคำยังถือปฏิบัติอยู่ โดยปกติทำกันปีละสามครั้ง คือ เดือน 4 เดือน 8 และเดือน 12 ของบีซู โดยจะมีการถวายไก่ สุราขาว ข้าวต้มมัด ผลไม้ และของหวานการไหว้อังจาวแต่ละครั้ง ปู่ตั้งจะเป็นคนดำเนินการจัดเรียงลำดับว่าใครจะเป็นผู้นำไก่ไปรวมกันหรือเป็นเจ้าภาพ เพื่อจะนำไปไหว้อังจาว จากนั้นปู่ตั้งก็จะไปบอกให้ผู้หญิงบ้านประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ว่าใครเป็นเจ้าภาพนำไก่ไปถวาย จากนั้นปู่ตั้งจะเป็นคนกำหนดวัน เวลา และประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ทั่วถึงกัน ในวันไหว้อังจาวชาวบ้านจะหยุดทำงานกันทุกครัวเรือน ในช่วงเช้าชาวบ้านจะนำกรวยดอกไม้ (ส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้ขาว) ธูปเทียน พริกหนุ่ม พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ขิงข่า ตะไคร้ เกลือ และผลไม้ต่างๆ ไปถวายหอเสื้อบ้าน การประกอบพิธีในแต่ละเดือน มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
2.1 พิธีอังจาวไวในเดือน 4 จะมีผู้นำไก่ไปถวาย 5 คน คนละ 1 ตัว และอีกคนหนึ่งที่จะนำสุราขาว 1 ขวดไปถวาย เมื่อไปถึงบริเวณหอเสื้อบ้าน ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวก่อน หลังจากนั้นทำการฆ่าไก่เพื่อนำไปต้ม ไก่ที่ถวายจะต้องทำเครื่องหมายโดยการเอาตอกมัดไก่ไว้ให้มีความสมบูรณ์ทั้งตัว แม้แต่หนังไก่ก็ไม่ให้หลุดออกมา เครื่องปรุงทุกอย่างจะไม่ตำที่ครก พริก ตะไคร้ข่า ต้องหั่น ขิง กระเทียม หอมแดง ต้องทุบใส่ ก่อนที่จะถวายไก่ต้มจะต้องนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวาน ถวายก่อน เมื่อไก่ต้มสุกแล้ว ก็จะยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวาน ออกมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านรับประทาน
2.2 พิธีอังจาวในเดือน 8 (ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน) มีขั้นตอนเหมือนกับการไหว้อังจาวในเดือน 4 แต่ต่างกันตรงที่ในเดือน 8 จะมีการไหว้อังจาวอยู่ 2แห่ง แห่งแรกคือที่หอเสื้อบ้าน จะมีผู้ไปไหว้ 10 คน เก้าคนนำไก่คนละ 1 ตัว และอีกคนนำสุราขาวไปถวาย 1 ขวด และแห่งที่ 2 คือ “อุ่ม” หรือที่ประตูบ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ปู่ตั้งอุ่มจะขอแบ่งไก่จากปู่ตั้งจำนวน 4 ตัว และให้ชาวบ้านประมาณ 3-4 คน มาช่วยกันทำอาหารหรือต้มไก่ 4 ตัว เมื่อทำอาหารหรือต้มไก่สุกแล้วก็จะยกไก่ต้มถวายพร้อมกับจุดธูปเทียน ปู่ตั้งอุ่มจะเป็นคนบอกกล่าวให้มารับของเซ่นไหว้ หลังจากที่ธูปเทียนไหม้หมดแล้ว ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวขออาหารเซ่นไหว้ เพื่อเอากลับไปที่บ้านปู่ตั้งอุ่มเพื่อแบ่งกันทานถือเป็นเสร็จพิธีกรรม การสร้างประตูไม้ไว้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน เพื่อกันภูตผีปีศาจรบกวน เรียกในภาษาบีซูว่า “สะมาลาแกน” สมัยก่อนชุมชุนของคนบีซูยังไม่หนาแน่น คนที่ปลูกบ้านก็มักจะปลูกในประตูไม้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้าน แต่ในปัจจุบันผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่พื้นที่มีจำกัด บ้านหลายหลังจึงต้องมาปลูกนอกเขตประตู แต่ยังคงรักษาพื้นที่บริเวณประตูเอาไว้ และมีพิธีทำความสะอาด และปรับปรุงประตูทุกเดือน 8 ของปี
2.3 พิธีอังจาวในเดือน 12 (ระหว่างเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน) มีขั้นตอนเหมือนการไหว้ในเดือน 4 มีผู้นำไก่ไปถวาย 5ตัว และสุราขาว 1 ขวด พิธีสำคัญนี้ทุกครอบครัวจะมีส่วนร่วมโดยจะมีการกำหนดให้ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับมอบหมายในแต่ละครั้งนำไก่มาร่วมในพิธี ตำแหน่งหน้าที่นี้จะหมุนเวียนกันไปตามหมวดจนครบทุกคนในหมู่บ้าน พิธีนี้ในสมัยก่อนจะมีทั้งผู้ใหญ่และเด็กๆเข้าร่วมพิธีหมดแต่ในปัจจุบันมีแต่ผู้ใหญ่บางคนเท่านั้นที่เข้าร่วม เพราะผู้ใหญ่หลายคนไปทำงานในเมือง และเด็กๆ ต้องไปโรงเรียน นอกจากการไหว้อังจาวปีละ 3 ครั้งแล้ว เมื่อคนบีซูท้องลูกคนแรกจะต้องทำการถวายหอเสื้อบ้าน โดยก่อนวันถวายหอเสื้อบ้าน 1 วัน คนในบ้านจะต้องไปตัดไม้อ้อ เอามาตัดเป็นท่อนๆตามปล้อง ตามจำนวนครัวเรือนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนละ 2 ปล้อง ปล้องแรกบรรจุทรายจนเต็ม และปล้องที่ 2 ใส่น้ำให้เต็ม พอถึงตอนกลางคืนเวลาประมาณ 20.00-21.00 น. ก็จะเอาปล้องที่ใส่ทรายออกมาโปรยใส่ที่หน้าบ้าน และเอาปล้องที่ใส่น้ำไปเทที่หน้าบ้านทุกครัวเรือน พอโปรยทรายและเทน้ำเสร็จก็จะบีบปล้องไม้อ้อจนแตกทิ้งไว้หน้าบ้านของทุกครัวเรือน วันรุ่งขึ้นที่ทำการถวายหอเสื้อบ้าน เตรียมหมู 1 ตัว พร้อมเครื่องปรุงและผลไม้ ขนมของหวาน ข้าวต้มมัด ไปที่หอเสื้อบ้านใหญ่ ปู่ตั้งก็จะบอกกล่าวกับอังจาวว่า วันนี้เป็นวันดีมีหมูมาถวายให้คนที่ท้องนั้นมีความสุขมีลูกก็ขอให้ลูกคลอดออกมาครบ 32 ประการขอให้ได้เลี้ยงเด็กง่ายๆมีความสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ตอนคลอดก็ขอให้คลอดลูกออกมามีความปลอดภัย จากนั้นก็ทำการฆ่าหมู ช่วยกันชำแหละ แล้วนำเนื้อหมูไปลาบและแกง ก่อนที่จะถวายแกงหมูและลาบหมูจะต้องนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวานถวายก่อน แกงหมูสุก และลาบหมูเสร็จแล้วจึงนำไปถวาย และยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวานออกให้ชาวบ้านรับประทาน
3
ประเพณี “วาซาออง”
ประเพณี “วาซาออง” คือกิจกรรมในช่วงของการเข้าพรรษาของชาวบีซู มีการพัฒนาวัดก่อนเข้าพรรษา เตรียมอาหารไปทำบุญช่วงเช้า กับข้าวที่ไปทำบุญจะมี ข้าว อาหาร ผลไม้ น้ำ ขนม ทำเป็นสองชุด แบ่งเป็นชุดแรก ใส่บาตร ชุดที่สองทำบุญให้คนที่เสียชีวิตหรือบรรพบุรุษ ช่วงบ่าย สงฆ์น้ำพระด้วยน้ำขมิ้น ส้มป่อย ฟังเทศฟังธรรม กลางคืน นอนวัด สวดมนต์ ทำสมาธิกรรมฐาน ระหว่างช่วงเข้าพรรษาชาวบีซูต้องไปทำบุญทุกวันพระ ช่วงเช้าใส่บาตร ช่วงบ่ายฟังธรรม จนกว่าจะออกพรรษา
4
ประเพณี “วาซาออก”
เป็นประเพณีของชาวบีซู โดยก่อนจะถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านมีการพัฒนาวัดให้สะอาดเรียบร้อยก่อนถึงวันพระ มีการเตรียมอาหาร ขนม ผลไม้ น้ำ ข้าว ใส่บาตร ทำสองชุด ชุดแรกใส่บาตร ชุดที่สองทำบุญให้แก่บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว ช่วงบ่าย สงฆ์น้ำพระด้วยขมิ้น ส้มป่อย ฟังเทศ ถวายผ้าออกพรรษา เช่น ผ้าสบง จีวร กลางคืน นอนวัด สวดมนต์ นั่งสมาธิ
5
ประเพณีลอยกระทง
วันลอยกระทงแต่ละปีไม่ตรงกันตามปฏิทิน ก่อนจะถึงวันลอยกระทง ชาวบีซูจะห่อขนม ทำกับข้าวไปทำบุญที่วัด ช่วงบ่ายจะมารวมกันที่ศาลากลางหมู่บ้าน พากันแห่ขัวตานเข้าวัดอย่างสนุกสนาน ตอนกลางคืนก็ไปฟังธรรมจุดประทีปปล่อยโคมลอยจากนั้นจึงไปลอยกระทงที่ลำห้วย
ชาวบีซูยังมีการสื่อสารผ่านสื่อพื้นบ้านที่เป็นการแสดงต่างๆ เช่น การฟ้อนรำ โดยมีการนำเอาเครื่องดนตรีมาเป็นส่วนประกอบที่สำคัญลักษณะของเครื่องดนตรีที่นำมาใช้ในวัฒนธรรมของบีซู แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือดนตรีที่ใช้สำหรับ แห่ครัวตาน และวงเพลงขับร้อง