กลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน
ประวัติและความเป็นมา
ไทเขิน หรือ ไตเขินหมายถึง ชาวไทกลุ่มหนึ่งในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได (Tai–Kadai Language Family) และอยู่ในกลุ่มไต (Tai-Tai) สาขาตะวันออกเฉียงใต้ บางทีเรียกไท/ไตขืน หรือไท/ไตขึน โดยสันนิษฐานว่าเรียกตามชื่อแม่น้ำขืนสายหนึ่งที่ไหลผ่านเมืองเชียงตุงที่ไหลทวนขึ้นไปทางเหนือจึงเรียกแม่น้ำขึนคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณนี้จึงเรียกตัวเองว่าไท/ไตขึน ชาวไทเขินมีวิถีการดำรงชีวิตที่เป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีภาษา ความเชื่อ พิธีกรรม หรือความสามารถในเชิงช่างโดยเฉพาะการทำเครื่องเขิน
ไทเขินในประเทศไทย
ชาวไทเขินส่วนใหญ่มีถิ่นฐานอยู่ในเมืองเชียงตุง ซึ่งเดิมเป็นหัวเมืองใหญ่ทางตะวันออกของที่ราบสูงฉาน เหนือเขตแดนของประเทศไทย แต่ปัจจุบันอยู่ในเขตรัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ ชาวไทเขินแต่เดิมนั้นมีถิ่นฐานพำนักอาศัยอยู่ในเมืองเชียงตุง หัวเมืองใหญ่ทางตะวันออกของที่ราบสูงฉาน ซึ่งเป็นนครรัฐที่รุ่งเรืองโดดเด่นเทียบเคียงกับเมืองเชียงรุ่งของชาวไทลื้อสิบสองปันนาและเมืองเชียงใหม่
เรื่องน่ารู้
ในสมัยพญามังราย (พ.ศ.1782-1854) เมืองเชียงตุงเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา มีความสัมพันธ์เกี่ยวดองในลักษณะเครือญาติ โดยส่งเชื้อพระวงศ์และขุนนางใกล้ชิดไปปกครอง ถือได้เป็นเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองเชียงใหม่ ในปี พ.ศ.2101 พระเจ้าบุเรงนอง กษัตริย์แห่งกรุงหงสาวดียกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ราชธานีของอาณาจักรล้านนาได้ ทำให้ราชวงศ์มังรายที่ครองแคว้นล้านนาสืบกันมา 262 ปี สิ้นสุดลงเมื่อเมืองเชียงใหม่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของพม่า หัวเมืองทั้งหลายที่ขึ้นแก่อาณาจักรล้านนาต่างแยกตัวเป็นอิสระหลายเมืองได้นำเครื่องบรรณาการไปถวายแก่พม่ายอมเป็นประเทศราช ซึ่งเมืองเชียงตุงได้ส่งเครื่องบรรณาการยินยอมเป็นประเทศราชเช่นกัน ต่อมาในปี พ.ศ.2347 พญากาวิละ (พ.ศ.2285-2358) เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ชักชวนเจ้าฟ้าเมืองเชียงตุงให้มาอยู่ที่เมืองเชียงใหม่ (ตามนโยบายยุคเก็บผักใสซ้า เก็บข้าใส่เมือง พ.ศ.2325-2358) เพื่อหลีกหนีสงครามจากพม่าและช่วยกันฟื้นฟูเมืองเชียงใหม่ซึ่งในขณะนั้นเป็นเมืองร้างไร้ผู้คน เจ้าฟ้าเชียงตุงได้ตอบตกลงและนำพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ประชาชนพลเมืองอพยพเดินทางมาสู่เมืองเชียงใหม่ และกระจายตั้งถิ่นฐานพำนักอาศัยในพื้นที่บริเวณต่างๆของเมือง ปัจจุบันชาวไทเขินกระจายตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และน่าน ชาวไทเขินนับถือพุทธศาสนาผสมผสานกับความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณที่ส่งผลต่อการดำรงชีวิต และการจัดการระบบนิเวศ ด้วยการนับถือธรรมชาติ บูชาผีบรรพบุรุษโดยมีศาลปู่ตา ใจบ้านหรือเสื้อบ้านเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นต้น
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
หมวดหมู่: | ชาติพันธุ์ | กิจกรรม | วันที่ | หมู่บ้าน