กลุ่มชาติพันธุ์ดาระอั้ง

ประวัติและความเป็นมา

ดาระอั้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษา “ออสโตรเอเซียติก” (Austroasiatic) กลุ่มย่อย Northern Mon-Khmer สาขาปะหล่องอิค (Palaungic) โดยจำแนกออกเป็น 2 สายหลัก คือ ปะหล่องอิคตะวันตก (Western Palaungic) เป็นกลุ่มภาษาที่ชาวว้า (Wa) และปลัง (Plang) ใช้ในการสื่อสาร อีกสายหนึ่งคือปะหล่องอิคตะวันออก (Eastern Palaungic) มีการแบ่งเป็นภาษา Riang และปะหล่องที่ชาวดาระอั้งใช้ในการสื่อสารกัน โดยแยกเป็นภาษาปะหล่องทอง (Goal Palaung, Shwe Paluang หรือ Ta-ang) ภาษาปะหล่องรูไม (Rumai หรือ Humai) และปะหล่องเงิน (Silver Palaung, Ngwe Palaung  หรือ Pale) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีประชากรบางส่วนอพยพเข้ามาในประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการจำแนกเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายกลุ่มตามความแตกต่างภาษาพูด ดาระอั้งเป็นที่รู้จักหรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ปะหล่อง” (Palaung) หรือ (ปอ หล่อง มาจากคนฉาน และ ปู่หลง มาจากคนจีน หมายถึง บรรพบุรุษล่องมาตามสายน้ำบนภูเขาที่สูงหนาว) หรือ “ดาระอั้ง”, “ดาราอาง”, “ตะอาง” (Ta – ang) ชาวพม่าเรียกว่า “ปะลวง” และไตใหญ่บางกลุ่มก็ใช้คำว่ากนลอย (Kunloi) หรือ คุนลอย ซึ่งมีความหมายว่า คนดอย คนภูเขา เป็นคำที่ชาวรัฐฉานใช้เรียกแทนคำว่าดาระอั้ง

การตั้งถิ่นฐาน

ดาระอั้งมีการตั้งถิ่นฐานกระจายตัวอยู่ตั้งแต่จีนตอนใต้ในมณฑลยูนนาน และรัฐฉานในประเทศพม่า โดยจะมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองตองเป็ง (Tawngpeng) ใกล้เมืองแสนหวีและสีป้อที่เป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครองและสร้างอาณาจักรของชาวดาระอั้งในช่วงศตวรรษที่ 19 ดาระอั้งจะกระจายอยู่ในพื้นที่แถบเมืองมิท (Muang Mit) เมืองน้ำซัน (Namsan) เมืองน้ำคำ (Namkham) ติดกับรัฐคะฉิ่น และมีอพยพจากเชีนงรุ้ง เขตสิบสองปันนากระจายลงมาทางเมืองเชียงตุง และบางส่วนมีการอพยพเข้าสู่ไทยเมื่อราว 20 ปีก่อนคาดว่ามีประชากรในประเทศไทยประมาณ 5,000 คน สำหรับการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นส่วนใหญ่อพยพเข้ามาเนื่องจากภาวะยากจนและการหลีกหนีภัยสงครามในพม่าที่ต้องถูกบังคับไปเป็นทหารและแรงงานในการสู้รบ ส่วนผู้หญิงก็ถูกทำร้ายรังแก ถูกข่มขืน จึงพากันอพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 ตามพื้นที่ตะเข็บชายแดนไทย ขณะในพื้นที่ทางแม่ฮ่องสอนมีรายงานของศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขาจังหวัดแม่ฮ่องสอน (2557) ว่าชาวดาระอั้งอพยพมาประมาณปี พ.ศ.2527 ประมาณ 2,000 คน มาอาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-พม่าบริเวณดอยอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ชื่อหมู่บ้านนอแลใกล้กับโครงการหลวงดอยอ่างขาง จากสาเหตุการสู้รบในพม่าการอพยพเข้ามาในประเทศไทย นอกจากชาวดาระอั้งจะอพยพเข้ามาเส้นทางชายแดนบ้านนอแล อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ แล้วยังพบว่า บางส่วนอพยพเข้ามาฝั่งชายแดนอำเภอเวียงแหง ชายแดนบ้านอรุโณทัย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว และชายแดนท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ปัจจุบันดาระอั้งตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และเชียงใหม่