ชุมชนชาติพันธุ์ดาระอั้งบ้านห้วยจะนุ
ชุมชนดาระอั้ง บ้านห้วยจะนุตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่
ประชากร
บ้านห้วยจะนุเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านสวนชา ดาระอั้งห้วยจะนุเป็นชาวดาระอั้งแดง อาศัยอยู่ร่วมกันประมาณ 80 กว่าหลังคาเรือน ส่วนใหญ่ยังไม่มีบัตรประชาชนรับรองว่าเป็นคนไทย อาชีพของคนในชุมชนคือรับจ้างทั่วไป รับจ้างทำนา ทำสวน ทำไร่ เป็นกลุ่มแรงงานภาคเกษตรที่สำคัญของตำบลม่อนปิ่น เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเพราะอพยพเข้ามาทีหลังกลุ่มอื่นๆ คนในหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ มีวัดประจำหมู่บ้าน ส่วนโรงเรียนอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 3 กิโลเมตร เยาวชนในหมู่บ้านต้องไปเรียนร่วมกับกลุ่มคนพื้นถิ่น คนไตยวน คนไตใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ เยาวชนดาระอั้งเป็นกลุ่มเยาวชนที่ความเข้มแข็งและให้ความสนใจในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆที่เข้ามาสนับสนุนในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง
ศาสนากับความเชื่อ
ดาระอั้งนับถือพุทธศาสนาควบคู่กับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ชาวบ้านจะพากันไปทำบุญตักบาตรที่วัด และเฉลิมฉลองเมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันอาสาฬหบูชา วันวิสาขบูชา วัน ปีใหม่ ซึ่งนอกจากตักบาตรด้วยข้าว อาหาร ดอกไม้ใส่ขันดอก แล้วยังมีการฟ้อนรำ ร้องเพลง บรรเลงฆ้อง กลอง ฉิ่งฉาบ ทั้งที่วัดและลานหมู่บ้านด้วย ชาวดาระอั้งหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านนอแล บ้านห้วยหมากเลี่ยมก็จะหยุดทำงานในวันพระ ชาวบ้านคนเฒ่าคนแก่จะไปนอนที่วัดในคืนก่อนวันพระเพื่อฟังพระเทศนา นั่งสนทนาธรรมกัน นั่งสมาธิ และจะมีลูกหลานนำน้ำดื่มไปบริการให้ผู้ที่นอนวัด พอรุ่งเช้าของวันพระลูกหลานจะพากันนำอาหารมาถวายพระ มาให้ผู้สูงอายุในครอบครัวตนเอง และนั่งรับประทานอาหารพร้อมหน้าหร้อมตากันทั้งครอบครัวที่วัดในเช้าวันพระ พ่อแม่ ชาวดาระอั้ง ยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติเช่นเดียวกับชาวพุทธโดยทั่วไป คือ การสนับสนุนให้ลูกชายบวชเณรเพื่อเล่าเรียนธรรมะ และบวชพระ เพื่อแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่บิดามารดา โดยจะมีการบวชเณร หรือทำพิธีส่างลองเหมือนชาวไตใหญ่ ซึ่งลักษณะทางสังคมวัฒนธรรมดังกล่าวที่สัมพันธ์กับความเชื่อทางศาสนาการแฝงฝังของสื่อพื้นบ้านส่วนใหญ่ของดาระอั้งจึงมีความคล้ายคลึงกับชาวไตใหญ่ โดยเน้นให้ความสำคัญด้านพิธีกรรมทางศาสนา และการแสดงออกที่สัมพันธ์กับวิถีชีวิตในระบบการผลิต สื่อพื้นบ้านที่แฝงฝังในมิติทางสังคมวัฒนธรรมอาทิ การแต่งกาย การเต้นรำ เป็นต้น