ดนตรีกับความสวยงามและ ความหลากหลายทางภูมิปัญญา

ชุมชนชาติพันธุ์ลีซูบ้านน้ำริน ตำบลสบป่อง อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ซึงเครื่องดนตรีลีซูและแคนลีซูประเภทต่าง ๆ
เครื่องดนตรี เครื่องดนตรีของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์คือสิ่งที่บ่งบอกถึงความสวยงามและความหลากหลายทางภูมิปัญญาความคิด เพื่อใช้ในการสื่อทางอารมณ์ความรู้สึกแทนการบอกเล่ากันทางปากต่อปาก เสียงดนตรีที่ไพเราะของเครื่องดนตรีแต่ละชนิดจะยังคงอยู่และสืบเนื่องต่อไปหากได้รับการปลูกฝัง และการเอาใจใส่ของกลุ่มคนชนรุ่นใหม่ เครื่องดนตรีที่นิยมชาวลีซู คือ พิณ 3 สาย เรียกว่า “ซึง” (ซือ บือ) “แคน” (ฝู่หลู่) และ “แคนน้ำเต้า” (ฟู่วหลูว) โดยแคนเป็นเครื่องดนตรีประเภทเป่า และนิยมเล่นกันของผู้ชายลีซู มี 3 ชนิด คือ แคนชนิดสั้น ชนิดธรรมดา และชนิดยาว ทำด้วยน้ำเต้าและปล้องไผ่เล็กๆ ที่คัดเป็นพิเศษ ปัจจุบันช่างทำฝู่หลู่ได้หายากเข้าทุกที การจะเป็นเจ้าของฝู่หลู่ได้จึงต้องเดินทางไปถึงหมู่บ้านที่มีช่างทำอยู่ และสั่งจองล่วงหน้า คนที่สามารถเป่าฝู่หลู่ได้ในแต่ละหมู่บ้านจึงมีไม่มากเพียงหมู่บ้านละ 3-4 คนเท่านั้น เพราะการหาซื้อฝู่หลู่ทำได้ยาก และการฝึกเป่าฝู่หลู่ก็ยากกว่า ด้วยการเล่นดนตรีถือเป็นเรื่องของผู้ชาย ไม่ถือเป็นบทบาทของผู้หญิง หนุ่มลีซูจะเล่นในเวลาที่ว่างหรือช่วงประเพณีต่างๆ โดยใช้บริเวณลานวัฒนธรรมชุมชน เป็นสถานที่เล่น หรือเล่นระหว่างทางไปท่องเที่ยวต่างหมู่บ้าน เพื่อส่งเสียงให้ผู้คนได้ยิน และก็จะใช้เครื่องดนตรีเป็นสื่อเพื่อแสดงความคิดถึงต่อกัน จนทำให้เครื่องดนตรีเป็นที่นิยม และสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันนี้

เกร็ดความรู้

ซึง “ชือบือ” เป็นเครื่องดนตรีประเภทดีด หนุ่มลีซูมักจะฝึกดนตรีตั้งแต่อายุได้ 12-13 ปี ส่วนใหญ่พ่อจะทำซึงให้ลูกชายได้ใช้ฝึกซ้อม ตัวซึงมีคันยาว ทำด้วยไม้และหนังตะกวด เวลาที่งานไม่ชุกนัก หนุ่มลีซูจะเอาไปฝึกดีดในไร่ด้วย การดีดซึงก็มีจังหวะสนุกสนาน เร้าใจ การเดินทางไปเที่ยวต่างหมู่บ้านหนุ่มลีซูจะพกเครื่องดนตรีติดตัวไปด้วย