ประเพณี พิธีกรรมของชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านโป่งนกเหนือ
ชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านโป่งนกเหนือ ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย
ชาวม้งนับถือผีบรรพบุรุษ วิถีชีวิตจึงมีความสัมพันธ์กับการประกอบประเพณีพิธีกรรมต่างๆเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีและการผลิตทางการเกษตร โดยความเชื่อเรื่องผีนั้นมีโครงสร้างระดับของผีประเภทต่างๆ ได้แก่ ผีระดับเทวดา หรือเทวดา ที่สำคัญ คือ “โซ้ว” หรือ “เหย่อฮโซว้” จัดได้ว่าเป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ทั้งปวงและเป็นผู้ดูแลโลกทั้งหมด ยุว้าตัวะเต่ง เป็นผู้อนุญาตให้คนมาเกิด ตัดสินชีวิตคนและกำหนดอายุคนเปรียบเสมือนพระยามัจจุราช ผีทั้งสองมีลักษณะเด่นและชัดเจนมาก ส่วนผีอื่นๆในระดับเดียวกันมีลักษณะคลุมเครือ เช่น หย่งฮ์เลห่าฮ์ เป็นผู้ดูแลให้มนุษย์ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ถือเซ้งถือติหรือ เซ้งเต้ เซ้งเซอ เป็นผีเจ้าที่เจ้าทาง ฮั้งไต่ เป็นกษัตริย์ผู้คอยดูแลปกครองมนุษย์ เจ๊งซื้อ เป็นผู้รู้กฎระเบียบจารีตประเพณีข้อกฎหมายต่างๆ ก๊ะยิ้ง ว่ากันว่าเป็นผีฟ้าผู้หญิงผู้ให้ลูกแก่สามีภรรยาที่ต้องการและร้องขอลูก ผีที่สำคัญอีกตนหนึ่งคือ “เน้ง” จัดเป็นผีฝ่ายที่คอยต่อสู้กับผีร้าย มีบทบาทสำคัญในการรักษาคนเจ็บป่วยที่เกี่ยวกับเรื่องขวัญวิญญาณ แบ่งได้เป็น 2 พวกใหญ่ๆ คือ เน้งเท่อ เป็นผีประเภทที่เข้าทรงร่างมนุษย์ กับอีกพวกหนึ่งคือ เน้งเกอะ เป็นผีที่เรียนท่องคำคาถาเอา “ด๊า” จัดเป็นผีเรือนทั่วๆไป ซึ่งอาจจะให้ได้ทั้งคุณและโทษ แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1.ผีเรือน เรียกว่า ด๊าโหวเจ๋ หรือ ด๊าว่า ด๊าเจ ประกอบด้วยผีที่สำคัญดังนี้ ผีประตู เรียกว่า ด๊าขงขงตร๊ง ผีประตูผู้ปกปักรักษาทั้งคนและสัตว์ในครัวเรือนให้สมบูรณ์แข็งแรงและแพร่ลูกหลาน ผีประตูอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ด๊าตร้งฮ์ หรือ ด๊าขอตร้ง เป็นผีประตูห้องนอนในบ้านแต่ละหลังอาจมี 2-3 ครอบครัวเมื่อมีสมาชิกของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งเจ็บป่วยและผู้รู้ระบุว่าจะต้องเลี้ยงผีประตูของครอบครัวนั้น ก็จะต้องมีการประกอบพิธีกรรมเลี้ยงผีขึ้นที่ประตูห้องนอนของครอบครัวนั้น ผีเสา เรียกว่า ดู๊ต๊า มักจะเป็นบริเวณตรงหน้าห้องนอนของผู้อาวุโสในบ้าน จะเป็นที่ตั้งเสากลางบ้าน และเป็นที่สิงสถิตย์อยู่ของดู๊ต๊า สีก๊ะ เป็นผีที่ชาวม้งไปขอชาวจีนมาเลี้ยง สีก๊ะ ช่วยให้ทำมาหากินเจริญ ลูกหลานเพิ่มพูน สัตว์เลี้ยงและพืชผลงอกงาม ค้าขายดีมีเงินทอง สีก๊ะจะมีกระดาษสี่เหลี่ยมสีขาวแผ่นขนาดฝ่ามือหรือใหญ่กว่าเล็กน้อยปิดตรงบริเวณข้างฝาบ้าน ผีเตาไฟใหญ่ เรียกว่า ด๊าขอส่อ ชาวม้งถือว่าเตาไฟใหญ่มีบุญคุณต่อชีวิต เป็นที่เลี้ยงชีวิตจนเติบใหญ่ขึ้นมาได้ ผีเตาไฟเล็ก เรียกว่า ด๊าขอจุ๊ เป็นผู้ให้ความอบอุ่นแก่คนในบ้านทำให้ผู้อาศัยมีความสุข ผีบรรพบุรุษ ป้อก๊งเหย่อฮสี พ่อแม่ปู่ย่าหรือบรรพบุรุษในสายผู้ชายที่ล่วงลับไปจะเป็นส่วนหนึ่งของผีเรือนด้วย บางก็ว่าที่สิงสถิตย์ของบรรพบุรุษอยู่ที่คานซึ่งพาดระหว่างเสาด้านห้องนอนที่อยู่ชิดประตูหน้ากับเสาผนังตรงข้ามหรือด้านหิ้งผีและเป็นคานที่ใช้เป็นที่วางพาดชั้นลอยเหนือหัวด้วยแต่ก็มีผู้กล่าวว่าผีบรรพบุรุษอยู่ที่ส่วนปลายของเสาก็มี 2.ผีทั่วไป ผีจำพวกนี้จะสิงสถิตอยู่ทั่วไป เช่น ผีป่า ผีน้ำ ผีจอมปลวก เป็นต้น และยังมีผีเร่ร่อน ซึ่งถูกจัดว่าเป็นพวกอดอยากหิวโหยตะกละกิน คนที่ตายลงโดยไม่มีญาติพี่น้องทำพิธีศพให้หรือตายในแบบผีไม่มีญาติขาดการทำพิธีวิญญาณก็จะล่องลอยไปเรื่อยๆไม่สามารถไปเกิดใหม่ได้ นอกจากนี้มีผีชื่อ หย่งฮ์ หรือ ด๊าซื่อหย่งฮ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผีที่มาคร่าเอาชีวิตมนุษย์โดยการพรากขวัญวิญญาณออกจากร่างกายไป ม้งยังมีเครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการทำพิธีกรรมต่างๆในวิถีชีวิตและมีความสำคัญมากคือแคนหรือ “เก้ง” เป็นเครื่องดนตรีที่ทำจากวัสดุธรรมชาติแบ่งส่วนประกอบของเครื่องออกเป็นส่วนหลักๆ 2 ส่วนด้วยกันคือส่วนตัวเครื่องซึ่งทำจากไม้เนื้ออ่อนเช่นไม้ขนุนหรือไม้สนเป็นต้นขูด ถาก เหลา โครงไม้ให้ได้ตามแบบอย่างตัวเครื่องที่ต้องการกล่าวคือมีลักษณะท่อนยาวถ่ายรูปช้อนโดยปลาย ด้านหนึ่งกลมใหญ่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร และยาวเรียวไปยังอีกด้านหนึ่ง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2-3 เซนติเมตรผ่าซีกกลางท่อนไม้นั้น ขูดคว้าน ภายในส่วนกลางเพื่อทำหน้าที่เป็นกล่องเสียงจากนั้นเจาะรูเพื่อสอดใส่ท่อทั้ง 6 ตัวเครื่องด้วยเชือกแผ่นเงินเสื่อน้ำมันหรืออื่นๆที่หาได้ในท้องถิ่น ปัจจุบันนิยมใช้เทปพันสายไฟ ส่วนท่อทำจากไม้ไผ่รวก มีขนาดความยาวแตกต่างกันตามระดับเสียงของท่อ จำนวนทั้งสิ้น 6 ท่อ ยาวลดหลั่นกันเสียบเข้าในตัวเครื่องที่เจาะรูไว้โดยส่วนท่อแต่ละท่อ และส่วนประกอบของเก้งได้แก่ตัวเก้ง เรียกว่า เต้า ท่อ เรียกว่า ดี๋ ลิ้นเก้ง ลักษณะเป็นไม้ไผ่ปางขนาด 1.0 ×4.0 เซนติเมตร ติดอยู่ด้านข้างของแต่ละท่อ บริเวณช่วงที่เสียบเข้าไปในตัวเครื่องท่อละ 1 ลิ้น ยกเว้น ท่อดี๋หลัว (ท่อใหญ่สุด) ติดเรียงขนานกัน 3 ลิ้น และส่วนปากเป่า
เกร็ดความรู้
ชาวม้งมีประเพณีพิธีกรรมต่างๆมากมายตามวัฏจักรในปฏิทินแต่ละรอบปี ตัวอย่างที่สำคัญอีกประเพณีหนึ่งคือพิธีกรรมกินข้าวใหม่ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งม้งจะมีความเชื่อว่าจะต้องเลี้ยงผีบรรพบุรุษที่ได้ดูแลครอบครัวของแต่ละครอบครัวให้อยู่ดีมีสุขมาตลอดปี ดังนั้นหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวในไร่แล้วจึงมีการนำเอาข้าวใหม่มาเซ่นไหว้บูชาผีบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปและเซ่นไหว้ให้กับเจ้าที่ทุกตน ซึ่งการกินข้าวใหม่จะทำกันในเดือนตุลาคมของทุกปี โดยขั้นตอนการนำเอาข้าวใหม่มาทำพิธีเซ่นไหว้นั้นจะเอาข้าวใหม่ที่ปลูกเริ่มแก่ในระหว่างเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม จะเก็บเกี่ยวเมื่อรวงข้าวสุกแต่ยังไม่เหลืองมากเกี่ยวตอนที่รวงข้าวมีสีเขียวปนเหลือง เมื่อเกี่ยวเสร็จก็จะนำมานวดให้เมล็ดหลุดจากรวงโดยไม่ต้องตากให้แห้ง นำข้าวเปลือกที่นวดเรียบร้อยแล้วมาคั่วให้เม็ดข้าวแข็งและเปลือกข้าวแห้ง เพื่อให้สะดวกในการตำข้าว ในอดีตนั้นนิยมการตำข้าวด้วยโค้กกระเดื่อง เมื่อตำเสร็จเรียบร้อยนำข้าวมาหุงเพื่อเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ซึ่งในการทำพิธีเซ่นผีนั้นสามารถทำโดยการนำไก่ตัวผู้ที่ต้มทั้งตัวมาเซ่นไหว้ตรงผีประตูก่อน ซึ่งตำแหน่งที่จะต้องเซ่นไหว้มี 5 แห่งได้แก่ สื่อก๋าง ดั้งขอจุ๊บ ดั้งขอจุด ดั้งขอจ่อง ดั้งจี้ดั้ง ขณะทำพิธีต้องสวดบทสวดเพื่อที่บอกให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือได้รับรู้และเข้ามาทานก่อน เมื่อทำพิธีเสร็จคนในบ้านถึงจะสามารถทานต่อได้ ซึ่งพิธีกินข้าวใหม่นั้นได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
ประวัติชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านโป่งนกเหนือ
พิกัดชุมชนชาติพันธุ์ม้งบ้านโป่งนกเหนือ
เอกลักษณ์และความโดดเด่นของชาติพันธุ์ม้ง
ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับชาติพันธุ์ม้ง
แกลเลอรี่ชาติพันธุ์ม้ง
หมวดหมู่: ชาติพันธุ์ | กิจกรรม | วันที่ | หมู่บ้าน | พิกัด