ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง

ประวัติและความเป็นมา

กะเหรี่ยงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาจีน–ทิเบต (Sino-Tibetan language family) กลุ่มย่อยทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman)

การอพยพและย้ายถิ่นฐาน

นักวิชาการสันนิษฐานว่าเดิมกะเหรี่ยงอาศัยอยู่แถบตะวันออกของทิเบตและเคลื่อนย้ายมาอยู่ในอาณาจักรจีนก่อนพุทธกาลชาวจีนเรียกกะเหรี่ยงว่าชาวโจว หลังจากที่กษัตริย์ราชวงศ์จิ๋นรุกรานเมื่อ พ.ศ.207 จึงแตกพ่ายและอพยพหนีมาอยู่ตามแม่น้ำแยงซีและปะทะกับกลุ่มชนชาติไตเจ้าของพื้นที่จึงพากันถอยร่นลงมาอยู่ตามแนวลำน้ำโขงและสาละวินในประเทศพม่า กะเหรี่ยงมีรัฐของตนเองอยู่ 2 รัฐคือรัฐคะยา/กะแยเป็นดินแดนของกะเหรี่ยงแดง และรัฐก่อตู่แลเป็นรัฐของกะเหรี่ยงขาว และมีหลายกลุ่มกระจัดกระจายอาศัยอยู่ตามป่าตามเนินเขาในรัฐฉาน กะเหรี่ยงมีการอาศัยอยู่จำนวนมากในประเทศพม่าและมีชื่อเรียกต่างๆกันออกไปหลายกลุ่ม ส่วนกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยนั้นสันนิษฐานว่าเข้ามาอยู่ภายหลังพวกลัวะดังปรากฏอยู่ในตำนานและพงศาวดารเมืองเหนือ และรุ่นหลังที่มีการอพยพเข้ามาช่วงการต่อสู้สงครามระหว่างมอญกับพม่า และช่วงที่อังกฤษยึดพม่าทำให้มีกะเหร่ยงบางส่วนหนีเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย นักภาษาศาสตร์ได้จำแนกกะเหรี่ยงออกเป็นกลุ่มต่างๆดังนี้ กะเหรี่ยงสะกอ (Sgaw) กะเหรี่ยงโปว (Pwo) กะแย (Kaya) บเว (Bwe) ปะโอ (Pa-O) ปะดอง (Padaung) และกะยอ (Kayo) 

กะเหรี่ยงในประเทศไทย

สำหรับกะเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยปัจจุบันกระจายตัวตั้งแต่ภาคเหนือจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปตามแนวชายแดนตะวันตกกระจายตัวอยู่ในเขต 15 จังหวัดคือ กาญจนบุรี กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี แพร่ แม่ฮ่องสอน ราชบุรี ลำปาง ลำพูน สุโขทัย สุพรรณบุรี และอุทัยธานี กะเหรี่ยงในประเทศไทยมีกลุ่มย่อย อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยงสะกอ) กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงแดง หรือกะแย (Kaya) บเว (Bwe)   กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงโปว์ (Pwo) และ กลุ่มปะดองหรือปาดอง (Padaung) เป็นต้น