กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่

กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่จัดอยู่ในกลุ่มภาษาตระกูลจีน-ธิเบต (Sino-Tibetan language family)  ลาหู่ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “มูเซอ” โดยชาวไต (Tai)

การอพยพย้ายถิ่นฐาน

เดิมลาหู่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ในประเทศธิเบตเมื่อถูกจีนรุกรานจึงอพยพลงมาทางใต้ในศตวรรษที่ 17-18 ชาวลาหู่ได้ตั้งอาณาจักรของตนเองบริเวณชายแดนพม่า-จีน มีการปกครองตนเองอยู่แถบยูนนานตะวันตกเฉียงใต้ ต่อมาช่วงปี พ.ศ.2423-2433 ถูกจีนรุกรานอีกจึงพากันอพยพกระจายตัวเข้ามาอาศัยอยู่ในทางตอนเหนือประเทศลาว พม่าและไทยในระหว่างศตวรรษที่ 18-19 โดยสาเหตุที่ชาวลาหู่ต้องอพยพจากทางตอนของจีนลงมาสู่พม่าและลาวนั้น มีสาเหตุมาจาก 2 ประการดังนี้  ประการแรก เนื่องมาจากมาตรการรักษาความสงบในยูนนานของจีนที่พยายามควบคุมและปกครองชาวลาหู่ทำให้เกิดการต่อต้านและบางส่วนจึงพากันอพยพลงมาสู่พม่าและลาว ประการที่สอง เนื่องมาจากความต้องการแผนดินใหม่ๆเพื่อการเพาะปลูก กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่มีการจำแนกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่มโดยความแตกต่างด้านภาษาพูด การแต่งกายและวัฒนธรรม ในชุมชนแต่ละแห่งอาจจะมีเฉพาะลาหู่ที่เป็นกลุ่มเดียวกัน แต่ชุมชนหลายแห่งก็จะมีชาวลาหู่กลุ่มย่อยหลายกลุ่มอาศัยอยู่ร่วมกัน

กลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่

จากการสำรวจโดยใช้หลักฐานทางประวัติศาสตร์ เส้นทางภูมิศาสตร์ของการอพยพและภาษาศาสตร์ ทำให้สามารถแยกลาหู่ออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆได้ 2 กลุ่ม คือ ลาหู่นะหรือมูเซอดำ และลาหู่ซีหรือมูเซอเหลือง นอกจากนี้ยังสามารถจำแนกลาหู่แต่ละกลุ่มใหญ่ออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆออกมา อีก อาทิ ลาหู่นะที่มีการแตกกลุ่มย่อยออกมาเป็นกลุ่มลาหู่เซเล กลุ่มลาหู่แดง เป็นต้น

ลาหู่ในประเทศไทย

ลาหู่ในประเทศไทยนั้นมีการอพยพเข้ามาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 มีการกระจายและตั้งถิ่นฐานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก และกำแพงเพชร โดยมีการแบ่งกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ออกเป็นกลุ่มย่อยต่างๆ ออกเป็น 9 กลุ่มย่อยได้แก่ ลาหู่หงี่ (ลาหู่แดง) ลาหู่นะ (ลาหู่ดำ) ลาหู่เฌเล ลาหู่ซี (ลาหู่เหลือง) ลาหู่เฌเล ลาหู่เหลืองบาหลา ลาหู่เหลืองบาเกียว ลาหู่ล่าบ้า และลาหู่กุเลา โดยมีการประมาณการจำนวนชาวลาหู่ในประเทศไทยช่วงปี ค.ศ.1983 ไว้ว่ามีจำนวนกลุ่มลาหู่นะหรือลาหู่ดำ (Lahu Na) มี 18% กลุ่มลาหู่เฌเล (Lahu Shehleh) มี 13% กลุ่มลาหู่ญีหรือลาหู่แดง (Lahu Nyi) มี 46% กลุ่มลาหู่ซิ (Lahu Shi) หรือลาหู่เหลืองบาหลา (Ba Lan) มี 17% กลุ่มลาหู่เหลืองบาเกียว (Ba Kio) มี 3% และกลุ่มอื่นๆอีก 3% อย่างไรก็ตามการอพยพเข้ามาของชาวลาหู่กลุ่มต่างๆในประเทศไทยยังมีเข้ามาหลายระลอก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2497-2525 จากการสู้รบในพม่าและปัจจุบันชาวลาหู่มีการกระจายตัวไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในหลายจังหวัดทางภาคเหนือของไทย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนิยมการจำแนกแบ่งกลุ่มชาวลาหู่ออกเป็น 4 กลุ่มหลักตามการเรียกตนเองของชาวลาหู่ในชุมชนคือ

1.ลาหู่แดง (Lahu Nyi) มีจำนวนมากที่สุดในบรรดากลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่ด้วยกันโดยเรียกตัวเองว่า ลาหูยะ (Lahu-Ya)

2.ลาหู่ดำ (Lahu Na) มีจำนวนมากเป็นที่สองรองลงมาจากลาหู่แดง โดยเรียกตัวเองว่าลาหู่นะ

3.ลาหู่ซี (Lahu Shi) คนไทยเรียกลาหู่กุย (Mussuh Kwi) หรือลาหู่เหลืองแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อยคือ ลาหู่เหลืองบาเกี่ยว (Ba Kio) และลาหู่เหลืองบาหลา (Ba Lan) ลาหู่ซีเป็นกลุ่มที่มีประชากรน้อยที่สุด

4.ลาหู่เฌเล/เชเล (Lahu Shehleh) มีจำนวนมากเป็นอันดับสาม โดยเรียกตัวเองว่าลาหู่นาเมี้ยว (Lahu Na-Muey)