ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่บ้านหนองเต่า

ชุมชนชาติพันธุ์ลาหู่บ้านหนองเต่า ตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ตำบลม่อนปิ่น อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านหนองเต่าเป็นหมู่บ้านบริวารของบ้านม่วงชุม มีกลุ่มชาวลาหู่ตั้งบ้านเรือนอยู่รวมกันทั้งลาหู่ดำและลาหู่แดง มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบเชิงเขาอยู่ห่างจากองค์การบริหารส่วนตำบลม่อนปิ่นไปทางทิศตะวันตกประมาณ  6 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอฝางไปทางทิศตะวันตกประมาณ 13 กิโลเมตร

ประชากร

ปัจจุบันมีจำนวน 74 หลังคาเรือน ประชากรจำนวน 1,120 คน คนในชุมชนบางส่วนได้รับบัตรประชาชนไทย เป็นกลุ่มที่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองแต่ส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย คนกลุ่มนี้จะไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง อาชีพของคนในชุมชนคือทำนาทำไร่ ทำสวนลิ้นจี่ ปลูกสตอเบอรี่ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ในครัวเรือน บางส่วนก็ยึดอาชีพรับจ้างทั่วไป รับจ้างทำนา ทำสวน  ทำไร่ เป็นกลุ่มแรงงานภาคเกษตรที่สำคัญของตำบลม่อนปิ่น ลักษณะทางสังคมครอบครัวของชาวลาหู่เป็นครอบครัวขยายจะมีบ้างที่เป็นครอบครัวเดี่ยวมีหัวหน้าครัวเรือนเพียงคนเดียวและทุกคนจะต้องเชื่อฟ้งและเคารพต่อหัวหน้าครัวเรือน การนับญาตินั้นจะนับญาติทางสามีและภรรยาเข้าด้วยกัน การทำการเกษตรเน้นทำพอกินในชุมชน ชาวลาหู่หนองเต่าเน้นการเป็นอยู่แบบวิถีดั้งเดิม สภาพบ้านเรือน  ความเป็นอยู่ของคนในชุมชนจึงไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก มีคนนับถือคริสต์อยู่สองสามครอบครัว  นับถือพุทธหนึ่งครอบครัวเพราะเป็นชาวไตใหญ่ที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่ชาวลาหู่หนองเต่ายังนับถือผี การติดต่อค้าขายกับคนนอกชุมชนก็พอมีบ้างเช่น แม่บ้าน เยาวชนทำกำไลหญ้าอิบูแคไปขายในตัวอำเภอฝาง แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนที่ลุ่มน้ำมาว ถนนคนเดินในอำเภอฝาง แม่บ้านบางกลุ่มก็ไปรับเอากระเป๋าเสื้อผ้าจากตลาดท่าขี้เหล็ก อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเสื้อผ้าที่คนในชุมชนทำขึ้นเองไปขายที่กรุงเทพในช่วงมีงานเกี่ยวกับชนเผ่า นอกจากนั้นก็มีการนำผลผลิตทางการเกษตรตามฤดูกาลไปขายที่ตลาดในตัวอำเภอฝาง เนื่องจากพวกเขาเน้นชีวิตเรียบง่าย พอเพียง

สังคมและวัฒนธรรม

สำหรับด้านสังคมวัฒนธรรมของชาวลาหู่หนองเต่านั้นนับถือผีและเทพเจ้าตามความเชื่ออือชา คือ เทพเจ้าที่ชาวลาหู่นับถือสูงสุดเพราะถือว่าเป็นเทพปกครองสวรรค์ในทุกวันสำคัญคล้ายวันศีลของกลุ่มชนที่นับถือพุทธชาวลาหู่จะทำพิธีการขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิเรียกว่า “วันซีผี” วัฒนธรรมของชาวลาหู่จึงมีความสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ และการเคารพเชื่อฟังผู้อาวุโสและผู้นำชุมชนหรือหัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งมีกฎระเบียบของหมู่บ้านอย่างเคร่งครัด จึงทำให้ชนกลุ่มนี้ยังคงมีวัฒนธรรม การแต่งกาย และชีวิตความเป็นอยู่ ที่ยังคงรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ที่เคยมีมาตั้งแต่บรรพบุรุษหลายประการ วัฒนธรรมที่เป็นประเพณี พิธีกรรมมีหลายอย่าง ซึ่งเป๋นสื่อพื้นบ้านที่สำคัญในการกล่อมเกลาทางสังคมให้กับคนในชุมชนได้เรียนรู้และประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ดีงามในการอยู่ร่วมกันในสังคมลาหู่  เช่น ประเพณีการแต่งงาน ชาวลาหู่นิยมมีภรรยาคนเดียว และเลือกคู่ครองโดยอิสระมีพิธีแต่งงานที่เรียบง่าย ไม่มีการเรียกสินสอดก่อนแต่งงาน ต้องแจ้งให้หัวหน้าหมูบ้านทราบโดยยกน้ำชาไปให้คนละ 1 หม้อ และหัวหน้าหมู่บ้านจะเป็นผู้หาเถ้าแก่ไปสู่ขอผู้หญิงให้ในพิธีแต่งงาน ฝ่ายหญิงจะต้องฆ่าหมู 1 ตัว เพื่อเซ่นไหว้แก่ผี และเมื่อแต่งงานแล้ว ฝ่ายชายต้องไปอยู่บ้านกับฝ่ายหญิง

พิกัด