ชุมชนชาติพันธุ์ไทเขิน (ไตเขิน) บ้านเหล่าพัฒนา
ชุมชนชาติพันธุ์ไทเขิน (ไตเขิน) บ้านเหล่าพัฒนา ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ประวัติ
ชุมชนชาติพันธุ์ไทเขิน (ไตเขิน) บ้านเหล่าพัฒนาตั้งอยู่หมู่ที่ 14 ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เดิมนั้นชาวไทเขินมีถิ่นฐานเดิมอาศัยอยู่ในแถบเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า ต่อมาได้มีกลุ่มชาวไทเขินอพยพมาตั้งบ้านเรือนแถวอำเภอแม่สายและอำเภอเมือง และในปี พ.ศ.2502 ก็มีการอพยพเข้ามาเป็นระลอกๆ โดยมีบางกลุ่มอพยพจากเชียงตุงเข้ามาตั้งบ้านเรือนแถบบ้านขัวแคร่ ตำบลบ้านดู่ เรียกว่าสันตุ๊ปู่เป็นป่าไผ่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พระธุดงค์มาปักกลดอยู่ โดยพื้นที่บริเวณติดกันเป็นพื้นที่ไร่นาส่วนตัวของนายประจวบ ชะพลพรรค จำนวน 33 ไร่ และต่อมาได้ขายทอดต่อให้กับชาวไทเขินที่มาตั้งบ้านเรือนแปลงละ 75 บาท จากนั้นเมื่อมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2509 ชาวไทเขิน 5 ครอบครัวคือครอบครัวนายสาม นางสุข กิตติตุ้น นายติ๊บ นายอินถา ใจคำแปง นายส่ง ไชยเรือนสูง และนายสมบูรณ์ กันทะเตียน ได้แยกตัวออกจากบ้านขัวแคร่มาตั้งบ้านเรือนบริเวณบ้านเหล่าพัฒนา ขณะเดียวกันในปี พ.ศ.2518 ครูบาคำหล้า สังวโร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุจอมสักได้ประชุมชาวบ้านและมีการจัดสร้างวิหารหลังปัจจุบันจนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2520 ต่อมาในปี พ.ศ.2520 มีชาวไทใหญ่นำโดยนายอ๋อง หงส์คำ จากเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่าอพยพเข้ามาสมทบ และชาวไทลื้อโดยการนำของนายอุ่น นางคำ ชัยทอง จากเมืองเชียงตุง เมืองบอน หลบหนีภัยสงครามเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกันประกอบกับชาวบ้านขัวแคร่เข้ามาอยู่อีก 70 ครัวเรือน ทำให้ประชากรในหมู่บ้านเพิ่มมากขึ้นในปี พ.ศ.2527 นายสมบูรณ์ กันทะเตียน ผู้ใหญ่บ้านจึงทำเรื่องขอแยกหมู่บ้านจากหมู่ 1 บ้านขัวแคร่มาเป็นหมู่ที่ 14 บ้านเหล่าพัฒนา ตำบลบ้านดู่ จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่ พ.ศ.2528
ประชากร
โดยปัจจุบันบ้านเหล่าพัฒนามีจำนวนประชากรทั้งหมด 300 คน เป็นชาย 130 คนเป็นผู้หญิง 170 คน มีทั้งหมด 45 หลังคาเรือน มีนางกาติกา ปินตาเลิศ เป็นผู้ใหญ่บ้าน โดยอาศัยอยู่ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นเช่น ไท ยวน ไทใหญ่ ไทลื้อ ซึ่งหากมองลักษณะการแบ่งกลุ่มบ้านจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มได้แก่ 1) บ้านเหล่าพัฒนา มีคนไทยวนและกลุ่มไทเขินอาศัยอยู่ที่เข้ามาตั้งบ้านเรือนตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 2) บ้านจัดสรรโครงการบ้านออมสินเป็นกลุ่มข้าราชการที่เข้ามาซื้อบ้านอาศัยอยู่ 3) บ้านป่าสวนลิ้นจี่หรือบ้านห้วยเหี้ยจะตั้งอยู่หลังวัดพระธาตุจอมสักซึ่งเป็นบ้านเรือนที่ขยายออกไปจากบ้านเหล่าพัฒนา และ 4) บ้านใต้วัดพระธาตุจอมสักหรือบ้านห้วยฮ้อมที่ขยายออกไปจากบ้านเหล่าพัฒนาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆผสมปนเปกันอยู่
ศาสนาและความเชื่อ
ชาวไทเขินนับถือศาสนาพุทธคล้ายคลึงกับไทใหญ่และไทยวน นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเรื่องผีและวิญญาณโดยชาวไทเขินส่วนใหญ่มักจะมีความผูกพันและความเชื่อในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ความรู้การประกอบพิธีกรรม ประเพณีล้วนแล้วต้องสัมพันธ์กับวัดเสมอในชุมชนมีวัดหนึ่งแห่งเป็นจุดศูนย์รวมในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ปัจจุบันไทเขินบ้านเหล่าพัฒนาส่วนมากมีอาชีพรับจ้างปลอกเปลือกสับปะรดในหมู่บ้าน เนื่องจากมีโรงงานสับปะรดอยู่ 3 แห่ง และบางส่วนออกไปทำงานต่างถิ่นจะเป็นวัยกลางคนไปทำงานต่างประเทศ และวัยรุ่นไปทำงานกรุงเทพ และเมืองใหญ่ต่างๆ อาชีพรองจะค้าขาย อาหารในหมู่บ้านและเปิดร้านขายของชำ นอกจากนี้ยังมีการรวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มทำน้ำดื่มในชุมชนก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2559 โดยนางกาติกา ปินตาเลิศ ส่วนการดำเนินกิจกรรมต่างของชุมชนจะไม่แตกต่างจากกลุ่มชาวไตอื่นๆที่เข้ามาอาศัยอยู่เป็นเวลา จึงมีทั้งกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มอาสาสมัครต่างๆของชุมชนที่ทำหน้าที่ดูแลจัดการเรื่องราวด้านต่างๆในชุมชน เช่น กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข กลุ่ม อพ.ปร. เป็นต้น